สป.เสนอ 5 เกณฑ์ เสริมศักยภาพแผน 9 ย้ำต้องประยุกต์ "ศก.พอเพียง"สู่ปฏิบัติจริง

ข่าวทั่วไป Wednesday August 3, 2005 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--สป.
สภาที่ปรึกษาฯ ประเมินผลการดำเนินงาน แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 9 (2545 — 2549) ระบุควรมุ่งเสริมสร้างฐานรากของสังคมให้เข้มแข็ง และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้าสู่สภาวะสมดุลและยั่งยืน โดยควรนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของแผนฯ 9 มาใช้อย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมในแต่ละยุทธศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเกิดผลสัมฤทธิในภาคปฏิบัติจริง
สภาที่ปรึกษาฯ ได้จัดส่งความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “ผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9” ตามที่ คณะทำงานติดตามประเมินผลแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (2545 — 2549) และยกร่างความเห็นและข้อเสนอแนะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (2550 — 2554) ได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ หลังจากได้มีการประมวลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ และการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากนักคิด ภาคประชาชน ในประเด็นเกี่ยวกับ สถานการณ์ภาคเศรษฐกิจ และบทบาทของภาครัฐ นโยบายและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคน การมีส่วนร่วมของประชาชน ความเข้มแข็งของชุมชน และการขับเคลื่อน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โดยความเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับในช่วงเวลาที่เหลือของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (2545 — 2549) ที่สภาที่ปรึกษาฯ ได้ประมวลและสังเคราะห์ผลสรุปประเด็นสำคัญได้ 5 เรื่อง ประกอบด้วย
1. ด้านการประยุกต์ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ไปสู่การปฏิบัติในทุกยุทธศาสตร์ โดยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้อัญเชิญแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจพอเพียงตามพะราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการพัฒนา โดยมุ่งเสริมสร้างฐานรากของสังคมให้เข้มแข็ง และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะสมดุลและยั่งยืน แต่จากการติดตามประเมินผลการพัฒนาในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 พบว่ายังขาดการแปลงแผนและการประยุก๖ใช้หลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมในแต่ละยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาฯ ดังกล่าว
ดังนั้น ในระยะเวลาที่เหลือของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จึงควรจัดทำแผนปฏิบัติการและติดตามประเมินผลในภาคปฏิบัติของการนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างเป็นรูปธรรม และให้เกิดความสัมฤทธิผลในภาคปฏิบัติ รวมทั้ง ปัญหา ข้อจำกัดที่ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง บังเกิดผลชัดเจนตามแผนพัฒนาฯ
2. ด้านเป้าหมายด้านเศรษฐกิจต้องเป็นไปเพื่อ “การอยู่เย็นเป็นสุข” พบว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร ด้วยการกระจายเงินเพื่อเพิ่มรายได้ จนนำไปสู่ทัศนคติด้านวัตถุนิยม โดยเสนอให้การพัฒนาในระยะต่อไป ควรยึดหลักการ “การอยู่เย็นเป็นสุข” ของคน มากขึ้น ได้แก่ สุขภาพอนามัย การกระจายรายได้ ครอบครัวที่อบอุ่นการไม่มีภาระหนี้สิน มีสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ทางสังคมที่ดี
3. ด้านสิทธิมนุษยชน และการคุ้มครองทางสังคม ทาง สป.พบว่าในช่วงที่ผ่านมายังมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถ เข้าถึงบริการของรัฐอย่างเท่าเทียม จึงเสนอให้รัฐขจัดการเลือกปฏิบัติทางสังคม สร้างเสริมให้เกิดความเสมอภาค ปกป้องกลุ่มด้อยโอกาสและผู้อ่อนแอทางสังคม เพื่อให้สังคมมีความมั่นคง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ถึงแม้ว่าการดำเนินงานด้านการคุ้มครองทางสังคม จะมีการปรับปรุงและรูปแบบให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริการทางสังคม การป้องกันอาชญากรรม ก็ยังไม่เพียงพอ
4. ด้านสิทธิ เสรีภาพของสื่อ ในการพัฒนาประเทศระยะต่อไป พบว่าในปัจจุบัน สื่อมักเผชิญกับอุปสรรคในการแสวงหาข้อมูลที่เป็นจริง รัฐจึงควรส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนให้มีเสรีภาพ โดยให้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ควรมีจริยธรรม คุณธรรม และความถูกต้อง ตลอดจนให้ความคุ้มครองผู้สื่อข่าว ไม่ให้ตกอยู่ใต้อาณัติของผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมือง ที่ต้องการแทรกแซงสื่อ
5. ด้านการยึดหลัก “ธรรมาภิบาล” และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระบบการบริหารจัดการทุกระดับ รัฐควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกระบวนการทำงานในทุกขั้นตอน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในระยะเวลาที่เหลือของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 โดยรัฐจะต้องให้ความสำคัญและมีการดำเนินการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนของการพัฒนา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้บรรลุได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีจริยธรรม มีความโปร่งใส โดยคำนึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักประชาสัมพันธ์
โทรศัพท์ 0-2612-9222 ต่อ 118 โทรสาร 0-2612-6919--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ