งานวิจัยสู่ความสำเร็จระดับเหรียญทอง เครื่องวัดความเร็วลมแบบบอลลูนฮีเลียม (Helium Balloon Anemometer)

ข่าวทั่วไป Monday February 9, 2015 12:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.-- จากเวทีการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ 2014 Taipei International Invention Show & Technomart ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถคว้าเหรียญรางวัลไปได้มากกว่า 20 รางวัล รวมทั้งเหรียญทองซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดจาก Award Committee Chair of 2014 Taipei International Invention Show & Technomart ผลงานชื่อ “เครื่องวัดความเร็วลมแบบบอลลูนฮีเลียม” (Helium Balloon Anemometer) โดยศ.ดร.ธนัญชัย ลีภักดิ์ปรีดา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษ Special Prize จากสมาคมส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Invention Promotion Association (KIPA)) รวมทั้งรางวัล Outstanding Diploma จากสมาคมสิ่งประดิษฐ์เพื่ออุตสาหกรรมแห่งประเทศไต้หวัน (Taiwan Invention & Innovation Industry Association (TIIA)) อีกด้วย สำหรับ “เครื่องวัดความเร็วลมแบบบอลลูนฮีเลียม” นี้มีลักษณะเป็นกลอุปกรณ์แขนหมุนรอบต่อเนื่องที่ผูกยึดกับเชือกดึงบอลลูนฮีเลียมให้ลอยในระดับที่ต้องการวัดขนาดและทิศทางของความเร็วลม โดยความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์การประเมินพลังงานลมเพื่อการผลิตไฟฟ้า ที่มีความสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน ติดตั้งง่าย และใช้ต้นทุนต่ำกว่าเครื่องมือวัดความเร็วลมที่ติดตั้งบนเสาวัดลมที่ใช้ในปัจจุบัน ศ.ดร.ธนัญชัย กล่าวว่า “งานวิจัยนี้จะหาความเร็วลมจากการวิเคราะห์พฤติกรรมหรือหลักการทำงานทางพลศาสตร์ของบอลลูนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เมตรที่บรรจุด้วยก๊าซฮีเลียมที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศระดับความสูง 40 เมตร เป็นกรณีศึกษา เพราะบอลลูนฮีเลียมสามารถติดตั้งตามความสูงที่ต้องการด้วยความยาวของเชือกที่ยึดติดระหว่างเชือกกับลูกบอลลูน โดยปลายเชือกด้านหนึ่งนั้นจะผูกติดกับอุปกรณ์กลไกที่สามารถหมุนได้ ซึ่งเป็นกลไกที่ออกแบบพิเศษในการหันแขนหมุนสู่ทิศทางของลมตลอดเวลา สำหรับอัตราเร็วลมที่ระดับความสูงบอลลูนนั้นสามารถคำนวณได้จากสมการการเคลื่อนที่ของบอลลูนและ สมการแรงต้านของลม เมื่อทราบค่าของตัวแปรต่างๆ ของบอลลูนฮีเลียมที่ได้จากการวัด ได้แก่ มุมแกว่งระหว่างแนวแกนตั้งกับเชือกและแรงตึงของเชือก และมีการประยุกต์ใช้สมการของกฎยกกำลัง (wind profile power law) เพื่อคำนวณปรับค่าอัตราเร็วลมที่ระดับความสูงบอลลูนไปเป็นอัตราเร็วลมที่ระดับความสูงที่ต้องการ ผลจากการทดลองพบว่า ค่าความเร็วลมที่ได้จากตัววัดความเร็วลมแบบบอลลูนกับค่าความเร็วลมที่ได้จากเสาวัดลมมีความสอดคล้องใกล้เคียงกัน” สำหรับ “เครื่องวัดความเร็วลมแบบบอลลูนฮีเลียม” นี้ มีต้นทุนการสร้างต้นแบบที่ได้พัฒนาขณะนี้ประมาณ30,000 บาท และสามารถเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ใหม่ได้ง่าย โดยมีราคาต่ำกว่าระบบเครื่องวัดติดตั้งบนเสาวัดลมที่ใช้ในปัจจุบัน และไม่ต้องเสียเวลาในการติดตั้งและถอดถอนเสาวัดลมอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ