สธ.เร่งสร้าง“นักระบาดวิทยามืออาชีพ”ให้ได้ 350 คน พร้อมตรวจจับ“โรคติดต่อตัวใหม่ ”ในคน-สัตว์

ข่าวทั่วไป Friday February 13, 2015 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--โฟร์ พี.แอดส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยอนาคตประเทศไทยเสี่ยงเผชิญโรคติดต่อตัวใหม่ เพราะผลจากระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง วางระบบรับมือโดยตั้งเป้าผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเพิ่ม 350 คนภายใน 10 ปี สร้างความพร้อมรับมือหลังเปิดประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน และควบคุมโรคที่เกิดจากสัตว์และในคนอย่างมืออาชีพ ชี้ขณะนี้ไทยมีนักระบาดวิทยาทั่วประเทศเพียง 128 คน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 22 พร้อมมอบรางวัลเกียรติคุณระบาดวิทยา (สุชาติ เจตนเสน) ประจำปี 2557 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทนักระบาดวิทยาแห่งชาติ 2 รางวัล ได้แก่ 1.ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ จากผลงานสร้างและพัฒนาคนด้านระบาดวิทยา เปิดการเรียนการสอน ส่งเสริมการศึกษาวิจัยโดยใช้ความรู้ทางระบาดวิทยา และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสาธารณสุขสำคัญๆ ในภาคใต้ตอนล่าง จนถึงระดับชาติและนานาชาติ และ2.รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ความรู้ทางการแพทย์และระบาดวิทยาเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขโดยเฉพาะโรคติดต่ออุบัติใหม่ ผสมผสานการเฝ้าระวังโรคเข้ากับการบริการทางการแพทย์ และประเภทผลงานระบาดวิทยาดีเด่น ได้แก่ ทีมโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคไข้เลือดออกเดงกี่ในเด็ก จังหวัดราชบุรี เพื่อทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนเดงกี่ 2549 – 2555 โดยมีศ.เกียรติคุณ พญ.อรุณี ทรัพย์เจริญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าทีม ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบนิเวศวิทยาทั่วโลก เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื้อโรคมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และมีความเสี่ยงที่อาจมีโรคติดต่อตัวใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกตามมาอีก อาจมีต้นตอมาจากสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง หรือคนก็ได้ โดยเฉพาะหลังจากการเปิดประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคระบาดที่ไทยควบคุมสำเร็จแล้วได้อีก ซึ่งในรอบ 13 ปีมานี้ ประเทศไทยมีประสบการณ์รับมือเชื้อโรคอันตรายตัวใหม่ ซึ่งล้วนเป็นเชื้อไวรัสหลายโรคเป็นผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับระดับโลก เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และอีโบลา เป็นต้น เครื่องมือที่ทำให้แก้ไขปัญหาทางสุขภาพได้สำเร็จของไทยคือความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการค้นหาปัญหา สาเหตุ และปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ในการเกิดโรค และแนวทางจัดการปัญหาเพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคต่างๆ ทั้งในภาวะปกติและในภาวะภัยพิบัติ เรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งดำเนินการก็คือการเร่งผลิตนักระบาดวิทยา เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนามเพียง 128 คน ร้อยละ 60 ปฏิบัติงานในต่างจังหวัด เฉลี่ย 1 คนต่อประชากร 350,000 คน ซึ่งยังต่ำกว่ามาตรฐานโลก ดังนั้นจึงได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาแพทย์ ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม เพิ่มให้ได้จำนวน 350 คนภายในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2558-2567 เฉลี่ยนักระบาดวิทยา 1 คนต่อประชากร 200,000 คน โดยไทยตั้งเป้าเป็นผู้นำในภูมิภาคทางด้านระบาดวิทยาภาคสนาม ภายในปี 2563 ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2558 มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 600 คน ประกอบด้วย บุคลากรทางด้านสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข จากกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค อาจารย์จากมหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้สนใจงานด้านระบาดวิทยา และสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการ ผลงานการศึกษาวิจัย มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการด้านระบาดวิทยาของประเทศไทยและอาเซียน หลายเรื่องอาทิ สิ่งที่ท้าท้ายนักระบาดวิทยาในปี 2558 เช่นพฤติกรรมวัยรุ่นกับการเสพยาเสพติด ระบาดวิทยาไวรัสตับอักเสบซี ในการสัมมนาระบาดวิทยาครั้งนี้ มีผู้เสนอบทคัดย่อทางวิชาการทั้งสิ้น 198 เรื่อง ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอในห้องสัมมนา 40 เรื่อง และนำเสนอในรูปแบบโปสเตอร์ 48 เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้เปิดมิติใหม่เพื่อให้ปลูกฝังกระบวนการเรียนรู้ด้านระบาดวิทยาให้กับนิสิต นักศึกษา ที่กำลังเรียนในสาขาด้านการแพทย์และสาธารณสุขด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ