รองนายกฯ นำทีมกระทรวงอุตสาหกรรม – บีโอไอ บุกแดนปลาดิบ แจงนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ พร้อมขยายความร่วมมือนักลงทุนญี่ปุ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 19, 2015 09:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ เดินทางไปชักจูงการลงทุนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2558 เยือน 3 เมืองอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โตเกียว นาโกย่า และ โอซาก้า โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นตอบรับเข้าร่วมฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่กว่า 1,500 คน พร้อมพบปะหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น สมาพันธ์เศรษฐกิจคันไซ หอการค้าและอุตสาหกรรมเมืองนาโกย่า เพื่อขยายความร่วมมือด้านการลงทุน นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17 – 21 กุมภาพันธ์ 2558 ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าคณะในการเดินทางไปชักจูงการลงทุนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2558 ของบีโอไอ ที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะของบีโอไอ เพื่อชี้แจงถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 รวมทั้งการพบปะหารือกับองค์กรภาคเอกชนของญี่ปุ่นเพื่อขยายความร่วมมือด้านการลงทุน การเดินทางไปชักจูงการลงทุนในครั้งนี้ จะมีการจัดสัมมนาใหญ่เรื่อง “ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” ที่โตเกียว นาโกย่า และโอซาก้า ซึ่งขณะนี้ มีนักลงทุนญี่ปุ่นตอบรับเข้าร่วมงานสัมมนาทั้งสามครั้ง รวมจำนวนกว่า 1,500 คน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีก็จะกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “เศรษฐกิจไทย: หนทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยของรัฐบาล ผ่านนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีให้จูงใจนักลงทุนกลุ่มกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ หรือ International Headquarters (IHQ) และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ หรือ International Trading Centers (ITC) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา และกำลังได้รับความสนใจจาก นักลงทุนญี่ปุ่น ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเสนอเรื่อง “โอกาสและความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย” และบีโอไอจะนำเสนอรายละเอียดของนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ พร้อมตอบข้อซักถามเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ และเรื่องการลงทุนเพิ่มในด้านวิจัยพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรมบุคลากรขั้นสูง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม นอกจากนี้ คณะของไทยจะได้พบปะหารือกับองค์กรภาคเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อขยายความร่วมมือภาคเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่นด้วย ได้แก่ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (KEIDANREN) สมาพันธ์เศรษฐกิจ คันไซ (KANKEIREN) หอการค้าและอุตสาหกรรมเมืองนาโกย่า (NAGOYA CHAMBER OF COMMERCE AND INDUSTRY) เพื่อสร้างความเข้าใจต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทย และเชิญชวนให้บริษัทญี่ปุ่นที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เช่น ไบโอพลาสติก อุปกรณ์ทางการแพทย์ และชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น สำหรับในปี 2557 การลงทุนของญี่ปุ่นในไทย มีคำขอรับส่งเสริมจำนวน 672 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 293,334 ล้านบาท จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ19.6 ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในด้านยานยนต์ ชิ้นส่วนโลหะ และเครื่องจักร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ