สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชน ต่อประเด็นสำคัญทางการเมืองและความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งใหม่

ข่าวทั่วไป Monday February 23, 2015 12:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อประเด็นสำคัญทางการเมืองและความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งใหม่: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 659 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2558 ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 38.0 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยยละ 34.7 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 23.5 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 2.6ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 1.2 ระบุไม่ได้ติดตามเลย ทั้งนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นถึงการรับทราบข่าวกรณีที่สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย หรือ อียู (EU) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติคัดค้านการใช้ศาลทหารกับพลเรือนนั้น พบว่า ร้อยละ 56.4 ระบุทราบข่าว ในขณะที่ร้อยละ 43.6 ระบุไม่ทราบข่าวนี้ ทั้งนี้ร้อยละ 69.1 เชื่อว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิดของอียู ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30.9 ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น และเมื่อสอบถามต่อไปว่า รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องเชิญตัวแทนจากประเทศต่างๆ มาชี้แจง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่นั้น พบว่า ร้อยละ 69.1 เห็นว่าจำเป็นต้องเชิญมาชี้แจง เพื่อให้ต่างประเทศจะได้มีความเข้าใจคนไทยมากขึ้น/ทุกฝ่ายจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน /ประชาชนจะได้เข้าใจชัดเจนขึ้นด้วย /จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการค้าการลงทุน/ประชาชนจะได้เห็นความพยายามของรัฐบาล /ความสัมพันธ์จะได้ราบรื่น ในขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุคิดว่าไม่จำเป็นเพราะคนไทยควรมีจุดยืนของตนเอง /ไม่มั่นใจในการเคลื่อนไหวของต่างประเทศ/เป็นเรื่องภายในประเทศของเราเอง /มั่นใจว่ารัฐบาลสามารถจัดการได้ อย่างไรก็ตามเมื่อสอบความคิดเห็นกรณีที่ต่างประเทศมักจะออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยในช่วงนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 49.7 ระบุรู้สึกกังวล เป็นห่วง ไม่อยากให้ต่างประเทศเคลื่อนไหวมากเกินไป ร้อยละ 43.9 ระบุทำให้เรารู้ว่าแต่ละประเทศคิดอย่างไรกับเรา ร้อยละ 41.5 ระบุคิดว่าต่างประเทศอาจจะยังไม่เชื่อมั่นในประเทศไทย ร้อยละ 38.8 ระบุอาจเป็นเพราะต่างประเทศยังไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของคนไทย อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 26.6 ระบุ ไม่อยากให้ต่างประเทศแสดงความสนใจประเทศเรามากเกินไป ร้อยละ 15.3 ระบุ เป็นเรื่องปกติ ที่มักจะมีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้ ในขณะที่ร้อยละ 11.9 มีความเห็นว่า รู้สึกเบื่อ /การเมืองเริ่มไม่แน่นอน/เริ่มไม่มั่นใจ/เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลเห็นข้อบกพร่อง จะได้แก้ไข /ต้องพยายามทำให้ต่างประเทศเชื่อมั่นมากขึ้น ตามลำดับ ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือเมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชน ถึงความพร้อมของประเทศไทยในการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในขณะนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 28.8 ระบุคิดว่าพร้อมแล้ว เพราะ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการทุกอย่างได้ดี/ปัญหาทุกอย่างเริ่มคลี่คลายแล้ว /อยากให้มีการเลือกตั้งเสียทีจะได้จบปัญหา/อย่างให้ประเทศมีความชัดเจนมากกว่านี้ ในขณะที่ประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 71.2 ระบุคิดว่าไม่พร้อม เพราะ ยังมีความขัดแย้งกันอยู่/สถานการณ์ยังดูวุ่นวาย/ ยังร่างรัฐธรรมนูญไม่เสร็จ /ยังหาคนดีที่เหมาะสมไม่ได้ /รัฐบาลกับ คสช.ยังทำงานได้ดี /สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ทั้งนี้ เมื่อสอบถามต่อไปว่า ประเทศชาติจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน ถ้าจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่หลังจากที่มีการปฏิรูปประเทศไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 83.3 เห็นว่า จะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ โดยให้เหตุผลว่า จะได้มีแนวทางที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น /สถานการณ์ขณะนั้นคงสงบมากกว่านี้ /ถ้าปฏิรูปเสร็จคนไทยจะได้ประโยชน์มากขึ้น/ทุกอย่างจะเป็นระบบระเบียบมากขึ้น /รัฐบาลจะได้มีเวลาเต็มที่ในการจัดเตรียมการเลือกตั้งให้โปร่งใสและยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 16.7 เห็นว่า จะเสียประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์ เพราะ เลือกตอนไหนก็เหมือนกัน ยิ่งเลือกตั้งช้า ยิ่งถูกกดดัน/ไม่แน่ใจในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียด/ปัญหาขัดแย้งคงไม่ยุติง่ายๆ /จะมีความขัดแย้งมากขึ้น/ ต่างประเทศจะแทรกแซงมากยิ่งขึ้น/อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ