WWF ส่งมอบช้าง “บุญช่วย” ให้แก่รัฐบาล แสดงพลังคนรักช้าง ร่วมต้านการฆ่าช้างเอางา

ข่าวทั่วไป Tuesday February 24, 2015 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--WWF WWF-ประเทศไทย หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลก ส่งมอบช้างจำลอง “บุญช่วย” ให้แก่พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงพลังของคนไทยที่รักช้างและร่วมต้านการฆ่าช้างเอางาผ่านแคมเปญ “ช.ช้าง ช่วยช้าง” เพื่อสนับสนุนความพยายามและการทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทยช้างจำลอง "บุญช่วย" เป็นช้างไม้ความสูง 2 เมตร มีลวดลายเป็นรูปภาพคอลลาจของประชาชนชาวไทยที่ร่วมแคมเปญ"ช.ช้าง ช่วยช้าง” ผ่านทางโซเชียลมีเดีย จากทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน โดยชื่อ “บุญช่วย” นั้นมาจากการร่วมมือร่วมใจของคนไทยในการแสดงออกซึ่งความรักที่มีต่อช้างและร่วมกันแสดงพลังปกป้องและช่วยชีวิตช้างที่ถูกฆ่าเพื่อเอางากว่าปีละ 20,000 ตัวในทวีปแอฟริกา โดยนางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWF-ประเทศไทย และนางสาวจันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการโครงการรณรงค์ต่อต้านการค้างาช้างเป็นผู้แทนจาก WWF-ประเทศไทยส่งมอบช้าง “บุญช่วย” ให้แก่ท่านรัฐมนตรีฯ และตัวแทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอันประกอบด้วยนางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และกรมศุลกากร กระทรวงการคลังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบและวางภาพตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานติดบนช้าง “บุญช่วย” เพื่อร่วมแสดงพลังรักช้างและต้านการฆ่าช้างเอางา โดยWWF-ประเทศไทยจะนำช้าง “บุญช่วย” ไปจัดแสดงนิทรรศการตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้สัมผัสถึงพลังรักช้างของคนไทยและร่วมถ่ายรูป โดยเริ่มที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2558 พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า“ประเทศไทยกำหนดให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมาย เพื่อยุติการลักลอบการค้างาช้าง โดยริเริ่มผ่านกิจกรรม และวิธีการต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้มีการคุ้มครองและอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนนี้รวมถึง กิจกรรมการรณรงค์ส่งเสริมการตระหนักรู้ของสาธารณชนถึงวิกฤติการณ์ที่ช้างแอฟริกากำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน ดังนั้นความร่วมมือของประชาชนพี่น้องชาวไทยทุกคนจะช่วยให้เราดูแลและคุ้มครองช้างทั้งในประเทศไทย และทั่วโลกได้มากยิ่งขึ้น” ปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการลักลอบค้างาช้าง โดยผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายไทย การออกพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ.2558 การปรับปรุงระบบทะเบียนและตั๋วรูปประพรรณช้างบ้าน และประชาสัมพันธ์เพื่อเน้นย้ำให้ประชาชนรับทราบถึงวิกฤตการณ์ฆ่าช้างเอางา ข้อต้องห้ามทั้งการนำเข้า ส่งออก และการค้างาช้างแอฟริกา พร้อมกับการจัดทำรายงานความคืบหน้าของการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ (National Ivory Action Plan) เสนอต่อคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือไซเตส (CITES) ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2558 นางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการ WWW-ประเทศไทยกล่าวว่า “ตราบใดที่ยังมีความต้องการใช้งาช้างอยู่ ช้างทั้งในแอฟริกา เอเชีย และทั่วโลกก็จะยังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ดังนั้นโครงการรณรงค์นี้จะช่วยให้เห็นวิกฤติการณ์ที่ได้เกิดขึ้นแล้วและภาวะการคุกคามช้างจากการฆ่าช้างเอางา พร้อมกับการเรียกร้อง และรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมกันแสดงพลังผ่านทางโซเชียลมีเดียและให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ซื้อ ขาย หรือใช้ผลิตภัณฑ์งาช้าง การส่งมอบช้าง "บุญช่วย” ในวันนี้เป็นการสนับสนุนความพยายามและการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทยผ่านพลังของประชาชนชาวไทยที่ต่างก็มีช้างเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ” แคมเปญ "ช.ช้าง ช่วยช้าง" โดย WWF-ประเทศไทยเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมานับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางโลก โซเชียลมีเดียที่คนไทยได้แสดงความรักที่มีต่อช้างและแสดงพลังในการต้านการฆ่าช้างเอางา ซึ่งช้างเป็นสัตว์ที่คนไทยรักและผูกพันอันอาจกลายเป็นสัตว์สูญพันธุ์ในเวลาอันไม่ช้า โดยที่ผ่านมามีประเทศไทยเป็นตลาดที่ไม่มีการควบคุมใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เอา "ช.ช้าง" ออกจากชื่อ นามสกุล องค์กร ห้างร้านผ่านทางเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ และ อินสตาแกรม และเป็นที่น่าภูมิใจที่พลังเชิงบวกนี้กำลังสร้างความตระหนักให้ทั่วโลกเห็นถึงความสำคัญของการ ไม่สนับสนุนการฆ่าช้างเอางา โดยได้รับความร่วมมือจากบุคลากรหลากหลายวิชาชีพ ทั้งศิลปิน ดารา นักแสดง สื่อมวลชน ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม ตลอดจนบุคลากรนักวิชาชีพทั้งในภาครัฐและเอกชน และสื่อมวลชนต่างๆ เช่น เนชั่นทีวี และไทยรัฐทีวี โดยมีการลบตัวอักษร ช.ช้าง ออกจากชื่อรายการ ชื่อผู้ดำเนินรายการ และชื่อผู้สื่อข่าว รวมทั้งลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ นักแสดงฮอลลีวู้ดและการแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 70 ที่ผ่านมา "คนไทยได้แสดงให้โลกเห็นแล้วว่า การฆ่าช้างเอางาไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่ถูกละเลยจากคนไทยและคนทั่วโลกอีกต่อไป ช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติและเป็นสมบัติของคนทั้งโลก คนไทยได้แสดงออกเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า คนไทยรักช้าง ต้องการปกป้องชีวิตช้าง และจะไม่ยอมให้ช้างถูกฆ่าเพื่อเอางาอีกต่อไป” จันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา, ผู้จัดการโครงการรณรงค์ต่อต้านการค้างาช้าง, WWF-ประเทศไทย กล่าว ก่อนหน้าพลังของคนไทยได้ไปไกลถึงระดับโลก โดยเมื่อวันอาทิตย์ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอนักแสดงฮอลลีวู้ด ผู้ก่อตั้งมูลนิธิลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Leonardo DiCaprio Foundation) และทูตสันติภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ได้ทวีตข้อความสนับสนุนและเชิญชวนแฟนทั่ว โลกคนร่วมแคมเปญ "ช.ช้าง ช่วยช้าง" เพื่อต้านการฆ่าช้างเอางาและปกป้องชีวิตช้างที่จัดทำขึ้นโดย WWF-ประเทศไทย หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลก ผ่านเว็บไซต์ www.chorchang.org โดยเขาได้ทวีตข้อความผ่านทาง Twitter (@LeoDiCaprio) ไปยังแฟนกว่า 12 ล้านคนทั่วโลกโดยมีข้อความว่า "Let's support Thai citizens demanding the end of ivory trade to protect elephants: wwf.to/15QEB3R #ชช้างช่วยช้าง#WWFThailand" หรือแปลเป็นไทยว่า "มาร่วมกันสนับสนุนคนไทย แสดงพลังในการยุติการค้างาช้างและฆ่าช้างเอางาเพื่อปกป้องชีวิตช้างกันเถอะ" นอกจากนี้ ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ครั้งที่70 ที่ผ่านมา นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการแปรอักษร "ช.ช้าง ช่วยช้าง" โดยเป็นภาพแม่ช้างและลูกช้างที่อาศัยอยู่ ในป่าอย่างมีความสุข และแม่ช้างถูกฆ่าเพื่อเอางา ตามด้วยข้อความภาพว่า "เงินไม่เท่ากับงา" และจบด้วยคำว่า "ช.ช้าง ช่วยช้าง" อีกด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยจะมีเวลาถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างเข้มข้น มิฉะนั้นประเทศไทยจะเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทาง การค้าในกลุ่มสินค้าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) อันนำรายได้มาสู่ประเทศ เช่น กล้วยไม้และหนังจระเข้ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ