กทม.ดันยุทธศาสตร์กรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday March 2, 2005 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (1 มี.ค.48)เห็นชอบ “แผนยุทธศาสตร์กรุงเทพเมืองอาหารปลอดภัย” โดยมอบหมายให้สำนักอนามัย กทม.
ดำเนินมาตรการเข้มข้นและต่อเนื่องในการตรวจสอบด้านสุขลักษณะของอาหารและสถานที่ประกอบปรุง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยปฏิบัติตามยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้าน เริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวิธีการทำงานเน้นการใช้ความรู้ทางวิชาการวิทยาศาสตร์ และการวางระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวังการปนเปื้อนของอาหาร การสร้างหลักประกันเพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เช่น การประกันคุณภาพของโรงงานหรืออุตสาหกรรมอาหารเกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารที่ปลอดภัย โดยมีสถาบันให้ประกาศนียบัตรรับรอง ตลอดจนการเปิดระบบให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง อาทิ การมีตัวแทนภาคประชาชนร่วมอยู่ในคณะกรรมการทั้งในระดับกทม. และระดับสำนักงานเขต และการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น เป็นต้น อีกทั้งให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และความรู้หรือการให้สุขศึกษาผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งสู่เป้าหมายหลัก คือ ประชาชนสุขภาพดีบริโภคอาหารปลอดภัย ซึ่งจะชี้วัดจากสถิติการเฝ้าระวังโรคประจำปี จำนวนสถานที่จำหน่ายอาหารที่ได้รับการตรวจสุขลักษณะ ตลอดจนตลาดสดที่ได้รับการตรวจคุณภาพอาหารทางจุลชีววิทยา รวมถึงความรู้ของประชาชนในการเลือกซื้ออาหารปลอดภัย เป้าหมายการพัฒนาระบบงานและบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านสุขาภิบาลอาหาร ซึ่งจะสร้างห้องปฏิบัติการตรวจอาหาร เปิดใช้ในปี 2549 และอบรมเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายการพัฒนากฎหมาย
ข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครให้เหมาะสม และสร้างระบบการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง โดยจะทบทวนข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับตลาด ร้านอาหารและการจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ภายในปี 2548 พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้แก่พนักงานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และเป้าหมายพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ จิตสำนึก และความร่วมมือจากผู้ประกอบการในตลาดสด ซุปเปอร์มาร์เก็ต และภัตตาคารร้านอาหาร และประชาชนทั่วไปในเรื่องอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะอาหารริมบาทวิถีในจุดผ่อนผัน 268 จุด จะต้องปลอดภัยกว่าที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 จะมีความเข้าใจ สามารถเลือกซื้ออาหารจากร้านอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
อย่างไรก็ดี จะมีการทำบันทึกความร่วมมือ ระหว่างกรุงเทพมหานครกับภาคเอกชนที่มีส่วนร่วม และสร้างกลไกการบริหารแผนดังกล่าวในรูปแบบของคณะกรรมการ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับนโยบาย ระดับการบริหารแผนยุทธศาสตร์ และระดับสำนักงานเขต โดยจะตั้งสำนักงานเฉพาะกิจในการบริหารแผนขึ้นด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ