เกษตรฯ ยกทีมถกความร่วมมือยางเวียดนาม ดึงร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อกำหนดมาตรการรักษา เสถียรภาพยางพารา พร้อมเร่งเจรจาด้านสุขอนามัยพืชเคลียร์ปัญหาส่งออกผลไม้ไทยไปเวียดนาม

ข่าวทั่วไป Friday March 13, 2015 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านได้เดินทางไปสาธารรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อหารือร่วมกับนายกาว ดึ๊ก ฟัด (Dr. Cao Duc Phat) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทประเทศเวียดนาม โดยผลการหารือในครั้งนี้มี 3 ประเด็นหลักด้วยกัน คือ 1. การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นหุ้นส่วนด้านยางพารา 2. การศึกษารูปแบบความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP และ3. ความร่วมมือด้านการเกษตรในด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างไทย-เวียดนาม โดยประเด็นความเป็นหุ้นส่วนด้านยางพารา ไทยได้แจ้งฝ่ายเวียดนามทราบว่าปัจจุบันไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียได้จัดตั้งสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ ดังนั้น หากเวียดนามร่วมมือเป็นพันธมิตรด้านยุทธศาสตร์ ก็จะสามารถร่วมมือกับ ITRC/ IRCo ในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาราคายางพาราให้สูงกว่าต้นทุนการผลิตและมีเสถียรภาพ ซึ่งในวันที่ 1 เมษายน นี้จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคกรุงเทพฯ โดยฝ่ายเวียดนามตอบรับที่จะส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมสังเกตการณ์ประชุมในครั้งนี้ด้วย รวมถึงร่วมมือจัดตั้งตลาดยางพาราส่งมอบจริงกับประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงของตลาดโลกที่สะท้อนอุปทานอุปสงค์ของยางพาราที่แท้จริง สำหรับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ซึ่งเวียดนามเป็น 1 ใน 11 ประเทศที่ดำเนินโครงการนำร่อง PPP ด้านการเกษตร และมีบริษัทชั้นนำกว่า 20 บริษัททั่วโลก ได้เข้ามาลงทุนด้านการเกษตรในเวียดนาม ใน 6 สินค้า ได้แก่ 1) ผัก 2) ผลไม้ 3) กาแฟ 4) ชา 5) สินค้าประมง และกลุ่ม Microfinance เช่น โครงการ PPP ระหว่าง MARD กับบริษัทชั้นนำ 12 บริษัท เช่น Monsanto, Nestlé, PepsiCo ที่ได้ร่วมกันสร้างความเจริญเติบโตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาคุณภาพและเพิ่มผลผลิตให้เป็นไปตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว หรือ โครงการ PPP ด้านชา กับบริษัท Uniliver Vietnam เพื่อฝึกอบรมการทำการเพาะปลูกชาแบบยั่งยืน และส่งเสริมตราสินค้า “Made in Vietnam” ของชาจากเวียดนามให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก “กระทรวงเกษตรฯ มีแนวคิดที่จะผลักดันนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันและเหมาะสมกับภาคการเกษตรของประเทศ ที่พบว่า ยังเป็นโครงการขนาดเล็กหรือเป็นโครงการแบบ CSR มากกว่า เพื่อช่วยระบบส่งเสริมการเกษตรของประเทศให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจมากขึ้น โดยทั้งสองประเทศจะหารือถึงความร่วมมือในโครงการดังกล่าวต่อไป” นายปีติพงศ์ กล่าว ส่วนประเด็นสุดท้ายที่มีการหารือร่วมกัน คือ การขยายความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชทั้งระดับอาเซียน และการหารือในระดับทวิภาคี ซึ่งเบื้องต้นฝ่ายไทยจะเชิญเวียดนามมาประชุมหารือในช่วงต้นเดือนเมษายน เพื่อกำหนดกรอบและรายละเอียดด้านความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทยที่มีแนวโน้มส่งออกไปยังเวียดนามมากว่านำเข้า ได้แก่ ผลไม้ 4 ชนิดที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาอนุญาตนำเข้าตามระเบียบใหม่ของเวียดนามให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุด.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ