รมว.พม. ย้ำรัฐบาลไม่ทอดทิ้ง เร่งช่วยเหลือแรงงานประมงไทย ถูกหลอกลงเรือประมงรอความช่วยเหลือ ที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2015 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ วันนี้ (๒๐ มี.ค.๕๘) เวลา ๐๗.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๑๒๔/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ (Anti Human Trafficking Network - ATN) และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมง (Seafarers Action Center - SAC) ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือแรงงานที่ตกเรือและประสบความทุกข์ยาก รวมถึงคนที่ถูกนายหน้าหลอกลวงมาทำงานเป็นลูกเรือประมงที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีทั้งชาวไทย เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว โดยพบว่าลูกเรือส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารแสดงตนที่ถูกต้องนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งมีความห่วงใยแรงงานที่ประสบปัญหาดังกล่าว และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลรับผิดชอบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้สั่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบปัญหาดังกล่าว พร้อมดำเนินการขับเคลื่อนตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญ จึงขอให้แรงงานที่ประสบปัญหาในขณะนี้สบายใจได้ว่า รัฐบาลไทยไม่ทอดทิ้งและจะเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมเจ้าท่า กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานดังกล่าว โดยนัดประชุมหารือเบื้องต้นเช้าวันนี้ เพื่อร่วมกันวางแผนปฏิบัติการเข้าช่วยเหลือและจะมีการจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่เกาะอัมบน เพื่อพิสูจน์ทราบหาข้อมูลข้อเท็จจริงและช่วยเหลือแรงงานกลับสู่ประเทศไทยโดยเร็ว พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีเด็กหญิงวัย ๑๐ ขวบ ที่เป็นเด็กเรียนดี แต่ป่วยเป็นโรคเด็กดักแด้ ใช้ศิลปะบำบัดให้ตนเองลืมความเจ็บปวดและต้องช่วยแม่ดูแลน้องที่ป่วยเป็นโรคเด็กดักแด้เช่นกัน ซึ่งครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดนครราชสีมา ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา(พมจ.นครราชสีมา) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้การช่วยเหลือครอบครัวดังกล่าวในเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้เด็กได้รับการศึกษาในระยะยาวต่อไป “ส่วนกรณีหญิงชราพิการตาบอด อายุ ๙๕ ปี ซึ่งเป็นชาวสิบสองปันนา นั่งร้องไห้หลังสามีเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีใครดูแล เพราะอายุมากและตาบอด รวมทั้งมีฐานะยากจน ที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ (พมจ.เชียงใหม่) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้การช่วยเหลือหญิงชราดังกล่าวในเบื้องต้น พร้อมทั้งดูแลช่วยเหลือตามภารกิจกระทรวงฯ ในระยะยาวต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ