พม. ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการหลอกลวงรับเข้าเป็นข้าราชการกระทรวงฯ โดยไม่ต้องสอบ ที่ จ.ร้อยเอ็ด พร้อมชี้แจงเหตุขัดข้อง สายด่วน OSCC โทร ๑๓๐๐

ข่าวทั่วไป Thursday March 26, 2015 10:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ วันที่ ๒๓ มี.ค.๕๘ เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๑๒๕/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม นายวิเชียร กล่าวว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ด จับกุมชายอายุ ๒๙ ปี พร้อมพวก ในข้อหาคดีปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอมไปใช้หลอกลวงเงินผู้เสียหาย โดยอ้างตัวเป็นหัวหน้ากลุ่มสวัสดิการและพิทักษ์คุ้มครองสิทธิ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดร้อยเอ็ด (สนง.พมจ. ร้อยเอ็ด) ว่าสามารถช่วยให้เป็นข้าราชการใน สนง.พมจ.ร้อยเอ็ด ได้โดยไม่ต้องสอบ แต่ต้องผ่านการอบรมพัฒนาจิตใจ เป็นเวลา ๒๙ วัน เพียงจ่ายเงินค่าอบรม คนละ ๓๐,๐๐๐ – ๑๒๐,๐๐๐ บาท หลังตรวจสอบพบชายและหญิง จำนวน ๒๑ คน อายุระหว่าง ๑๘-๓๐ ปี ถูกหลอกลวงรวมเป็นเงินจำนวนกว่า ๑.๗ ล้านบาท ตนขอยืนยันว่ากระทรวงฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อหากมีกรณีผู้แอบอ้างกระทำในลักษณะดังกล่าว นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า จากกรณีชาย อายุ ๕๖ ปี ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนขอให้รัฐบาลช่วยเหลือลูกชาย อายุ ๒๑ และ ๒๔ ปี ถูกหลอกไปทำงานเป็นลูกเรือประมงที่ประเทศอินโดนีเซียนานกว่า ๘ เดือน ให้กลับประเทศไทย เนื่องจากขาดการติดต่อตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ โดยครั้งสุดท้ายลูกชายโทรกลับมาบอกว่าต้องอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ อีกทั้งผู้เป็นแม่ก็ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ ประกอบอาชีพไม่ได้ ต้องอยู่อย่างลำบาก ที่จังหวัดสกลนคร ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสกลนคร (พมจ.สกลนคร) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหาแนวทางการช่วยเหลือลูกชายทั้ง ๒ คน ให้กลับมาประเทศไทย และดูแลในเรื่องการรักษาพยาบาลของแม่ที่ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ต่อไป ส่วนกรณีหญิงชรา อายุ ๖๐ ปี อาศัยในกระต๊อบสภาพทรุดโทรมริมถนน มีรายได้เพียงวันละ ๓๐-๕๐ บาท จากการเก็บผักขาย ต้องรับภาระเลี้ยงดู ลูกสาว อายุ ๓๒ ปี ที่ป่วยเป็นโรคทางประสาท และหลานชายวัย ๖ เดือน ครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีเงิน ค่ารักษาพยาบาลลูกสาวและซื้อนมผงให้หลาน ที่จังหวัดเลย ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเลย (พมจ.เลย) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของลูกสาว ที่ป่วย และให้การดูแลช่วยเหลือหลานชายในระยะยาวต่อไป และกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้หมู่บ้านชาวอาข่า บนดอยสูงชายแดนไทย-เมียนมาร์ ในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่ามีบ้านเรือนจำนวน ๑๑ หลัง ถูกไฟไหม้ทั้งหมด มีชาวอาข่าได้รับความเดือดร้อน ๕๕ คน นั้น เนื่องจากกระทรวงฯ มีภารกิจในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์และคนชายขอบ ตนจึงกำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย (พมจ.เชียงราย) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นอย่างเร่งด่วน พร้อมติดตามความคืบหน้าหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ รวมทั้งประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยชั่วคราวต่อไป “จากกรณีประชาชนไม่สามารถติดต่อและใช้บริการของสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร ๑๓๐๐ ในช่วงวันเสาร์ที่ ๒๑ มี.ค.๕๘ และวันอาทิตย์ที่ ๒๒ มี.ค.๕๘ นั้น ขอเรียนว่าเกิดจากปัญหาขัดข้องของระบบโทรศัพท์ ทั้งนี้ กระทรวงฯ ขออภัยประชาชนที่ต้องการใช้บริการสายด่วน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถให้บริการประชาชนได้ตามปกติ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง”นายวิเชียร กล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ