จังหวัดสงขลา ร่วมกับอุตสาหกรรมสงขลาและสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิด เรินผ้าลีมาแล

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2015 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จังหวัดสงขลา ร่วมกับ อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา และสถาบันพัฒนาอุตสหากรรมสิ่งทอ ตัดริบบิ้น “เรินผ้าลีมาแล” ศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งใหม่ พร้อมเปิดตัวคลัสเตอร์ผ้าทอพื้นเมือง ผ้าบาติก และผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต้นแบบ 5 แบรนด์ 5 จังหวัด พร้อมรับออเดอร์รวมกว่า 30 รายการ นายอุดมเดช นิ่มนวล อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมีอารยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่น่าสนใจ สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยเฉพาะการทอผ้าพื้นเมือง โดยผ้าพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อ อาทิเช่น ผ้าเกาะยอและผ้าขาวม้า จังหวัดสงขลา ผ้าจวนตานี จังหวัดปัตตานี ผ้าปะลางิง จังหวัดยะลา หรือผ้าที่มีความโดดเด่นใน 5 จังหวัดภาคใต้ชายแดน เช่น ผ้าบาติก เป็นต้น แต่ปัจจุบันความนิยมเริ่มลดน้อยลงเนื่องจาก มีผ้าชนิดใหม่ ๆ เข้ามาแทนที่ประกอบกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ ยังขาดความหลากหลายจึงต้องเร่งพัฒนาและอนุรักษ์คุณค่าผ้าในท้องถิ่นไว้ให้เป็นอาชีพสืบไป จากความสำคัญดังกล่าว จังหวัดสงขลา จึงได้จัดสรรงบประมาณพร้อมมอบหมายให้ อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาโครงสร้างผ้าทอพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 5 จังหวัดภาคใต้ชายแดน ในโครงการเทศกาลท่องเที่ยวและวัฒนธรรมสัมพันธ์กลุ่มประเทศอาเซียน โดยผ่านความเห็นชอบจากผู้บริหารกลุ่มจังหวัด นายพิทักษ์ บุญคงแก้ว อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นศึกษาวิจัยเส้นใย เส้นด้ายใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากเส้นด้ายปัจจุบัน สู่การพัฒนาโครงสร้างผ้าทอพื้นเมือง และมุ่งเน้นการพัฒนาผ้าบาติก โดยนำศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น มาพัฒนาเป็นจุดแข็งในการสร้างตราสัญลักษณ์ (Brand) และยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัด สร้างกลุ่มเครือข่าย (Cluster) ผ้าทอพื้นเมือง และผ้าบาติก เพื่อขับเคลื่อนความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 5 จังหวัดภาคใต้ชายแดน พร้อมจัดตั้งศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินกิจกรรมสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ มากมาย อาทิ จัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีในการเริ่มต้นสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ พาเยี่ยมชมงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เปิดคอร์สอบรมการเขียนแผนธุรกิจ รวมทั้งจัดประชุมคลัสเตอร์เพื่อระดมความคิดเห็นและหาแนวทางการบริหารจัดการคลัสเตอร์ในอนาคต โดยในแต่ละกิจกรรม มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมกันอย่างคึกคัก กว่า 30 กลุ่ม รวมไม่น้อยกว่า 105 คน ผลักดันจนเกิดผลลัพทธ์ตามเป้าหมายคือ พัฒนาและสร้างตราสัญลักษณ์คลัสเตอร์ผ้าทอพื้นเมืองและพัฒนาผ้าบาติก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตราสัญลักษณ์ 5 แบรนด์ 5 จังหวัด พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต้นแบบซึ่งได้มีการนำมาเปิดตัวในวันนี้ (27 มีนาคม 2558) นาวสาวกฤษณา รวยอาจิณ อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า การพัฒนาและสร้างตราสัญลักษณ์นั้น ประกอบไปด้วย คลัสเตอร์ผ้าทอพื้นเมือง โดยมีตราสัญลักษณคือ รูปกระสวย 5 ชิ้น 5 สี คล้องกันมัดเป็นรูปดาว สำหรับคลัสเตอร์ผ้าบาติก นั้น มีตราสัญลักษณ์เป็นรูปผ้า 5 ผืน 5 สี พันคล้องกันเป็นมัด โดย ตราสัญลักษณ์ของทั้ง 2 คลัสเตอร์ มีการใช้สีซึ่งถือเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด นำมารวมกัน และมีความกลมเกลียวสื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียวที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด แบ่งเป็น 2 แบบคือ แบบตัวอักษร คือตัวย่อของแต่ละจังหวัดและแบบรูปภาพที่สื่อถึงอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น ส่วนการพัฒนาต้นแบบของที่ระลึกนั้น แบ่งเป็น ผ้าทอพื้นเมืองและผ้าบาติก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งมุ่งเน้นศึกษาวิจัยเส้นใย เส้นด้ายใหม่สู่การพัฒนาโครงสร้างผ้าทอพื้นเมือง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต้นแบบ อาทิเช่น กระเป๋าผ้าขาวม้าผสมใยตาลย้อมสีธรรมชาติ ผ้าพันคอทอมือผสมใยบัวผลิตภัณฑ์จากสงขลา กระเป๋าผ้าปาละงิงผสมใยบัวพิมพ์ลายกล้วยหินผลิตภัณฑ์จากจังหวัดยะลา สมุดบันทึกผ้าจวนตานีผสมใยตาลผลิตภัณฑ์จากจังหวัดปัตตานี หรือ ซองมินิไอแพตผ้าทอพื้นเมืองผสมใยตาลผลิตภัณฑ์จากนราธิวาส เป็นต้น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการออกแบบลวดลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยมีผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต้นแบบ อาทิเช่น กระเป๋าผ้าบาติกลายหอยสังข์ ผลิตภัณฑ์จากจังหวัดสงขลา พวงกุญแจผ้าบาติกลายหินงามผลิตภัณฑ์จากจังหวัดสตูล ซองเก็บลูกกุญแจผ้าบาติกลายกล้วยหินผลิตภัณฑ์จากจังหวัดยะลา กระเป๋าใส่แท็บเล็ตผ้าบาติกลายเรือกอและผลิตภัณฑ์จากจังหวัดปัตตานี หมอนอิงผ้าบาติกลายนกเงือกผลิตภัณฑ์จากจังหวัดนราธิวาส เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบทั้งหมดรวม 10 คอลเล็คชั่น กว่า 30 รายการ พร้อมจัดทำหน่ายและรับออเดอร์ ณ เรินผ้าลีมาแล ศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ แห่งนี้ และกระจายสู่ตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และภูเก็ต จังหวัดละ 1 สาขา สำหรับ “เรินผ้าลีมาแล” หรือศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการผสมผสานคำระหว่างภาษาใต้กับภาษามาลายู โดยคำว่า “เรินผ้า” แปลว่า “เรือนผ้า” ส่วน ลีมาแล เป็นภาษามาลายู แปลว่า “ของดี 5 อย่าง” โดยรวมหมายถึง บ้านหรือเรือนผ้าที่รวมของดีจาก 5 จังหวัดภาคใต้ชายแดน จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ประวัติ ความเป็นมา แหล่งเชื่อมโยงการพัฒนาเครือข่าย และแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมือง ผ้าบาติกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อให้เกิดประโยชน์และนำมาซึ่งรายได้แก่ผู้ประกอบการในระยะยาวอย่างยั่งยืน เรินผ้าลีมาแล ตั้งอยู่เลขที่ 3 ถนนสุขุม อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000 โดยเปิดให้บริการในวันจันทร์ – ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ตั้งแต่วันนี้ (27 มีนาคม 2558) เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา โทร.07431 1511 หรือ www.leemalae.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ