บทวิเคราะห์ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2 และภาวะการลงทุนครึงปีหลัง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 21, 2015 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองกระเตื้องขี้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่แล้วแต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ไตรมาสแรกอัตราการเติบโตน่าจะเป็นไปตามคาด 2.7-3% ปรับประมาณการทั้งปีเหลือ 3-3.9% แทบไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ มีความเสี่ยงเงินฝืดหากเกิดวิกฤติการเมืองรอบใหม่ ไตรมาสสี่เศรษฐกิจอาจติดลบได้ รัฐบาลควรใช้โอกาสขณะนี้ดำเนินการพลักดันปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยุทธวิธีในการดำเนินการควรจะเสนอเป็นมาตรการรวมทั้ง Package เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆในสังคม เช่น ดำเนินการเก็บภาษีเพิ่มเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปฏิรูปที่ดินด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองปี 2558 ขยายตัวได้ประมาณ 6-6.7% เทียบกับปีที่แล้วกระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนแต่เทียบกับไตรมาสแรกขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเชื่อว่าจีดีพีไตรมาสแรกน่าจะเติบโตตามคาดที่ 2.7-3% พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีมาอยู่ที่ 3-3.9% (เทียบกับ 4% ที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน พ.ย. 2557) แทบจะไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.2-0.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2-1.3% ยังไม่มีความเสี่ยงเรื่องภาวะเงินฝืดในขณะนี้แต่ความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะเงินฝีดจะสูงขึ้นหากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบช่วงครึ่งปีหลังจากวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่ โดยที่เศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีโอกาสชะลอตัวและอัตราการเติบโตไตรมาสสี่อาจติดลบได้เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนต่ำกว่าคาดการณ์ไว้เดิมเป็นผลจากอัตราการใช้กำลังการผลิตส่วนเกิน (Capacity Utilization) อยู่ในระดับต่ำ ส่งออกติดลบในช่วงไตรมาสแรก ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังคงติดขัดจากปัญหาประสิทธิภาพของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ ส่วนการเติบโตภาคการบริโภคยังต่ำกว่าการคาดการณ์เดิม ความเชื่อมั่นดีขึ้นแต่มีข้อจำกัดจากระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้น การผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาปัญหา เฉพาะหน้าเท่านั้นและไม่ยั่งยืน ระดับราคาสินค้าเกษตรโดยรวมหดตัวลงติดลบ 5% ในไตรมาสสี่ปีที่แล้วและแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไปในไตรมาสแรกและสองของปีนี้ ทำให้กำลังซื้อและรายได้ในภาคชนบทอ่อนแอ ผศ. ดร. อนุสรณ์ วิเคราะห์ว่า มีสี่ปัจจัยหลักที่ส่งผลทำให้ภาคส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ไม่เกิน 1-2% ปัจจัยแรก การตัดจีเอสพีของอียูและอียูไม่ยอมเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตย ปัจจัยที่สอง อัตราการเติบโตของจีนที่ชะลอตัวลงมากส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคส่งออกของไทยเพราะสินค้าส่งออกจำนวนไม่น้อยของไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตเพื่อการส่งออกของประเทศจีน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ของจีนต่ำกว่าคาดอยู่ที่ 7% เป็นอัตราการเติบโตรายไตรมาสอ่อนแอที่สุดในรอบ 6 ปีนับจากวิกฤติสินเชื่อซับไพร์มสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยที่ทั้งปีจีนอาจเติบโตได้เพียง 6.8% เท่านั้น ปัจจัยที่สาม ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยที่เป็นปัญหาสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่สี่ กำลังซื้อที่อ่อนแอลงของประเทศคู่ค้าหลัก ปัญหาค่าเงินบาทและยุทธศาสตร์การส่งออกของไทยไม่ใช่ปัญหาหรือปัจจัยหลักในขณะนี้ ราคาน้ำมันในรูปสกุลเงินดอลลาร์ลดลง 40-60% (ราคาน้ำมันลง ดอลลาร์แข็งค่า) พร้อมกับราคาตกต่ำของสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตร ส่งผลกระทบต่อประเทศที่พึ่งพิงส่งออกสินค้าเหล่านี้เป็นหลัก เช่น รัสเซีย ประเทศตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย บราซิล เป็นต้น เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ประมาณ 3.75% ในไตรมาสสามปี 2557 เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเป็นด้านหลักแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในช่วงไตรมาสสองปีนี้ ขณะที่ประเทศสำคัญอื่นๆทางเศรษฐกิจยังคงมีภาวะอ่อนแอของการฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อียู ส่วนตลาดดาวรุ่งทางเศรษฐกิจอย่างรัสเซียยังเผชิญวิกฤติ จีนชะลอตัว บราซิลชะลอตัว ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้กล่าวให้ความเห็นในงานสัมมนา “การปฏิรูปภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ: ภาษีที่ดินและภาษีมรดก” ว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสขณะนี้ดำเนินการพลักดันปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยุทธวิธีในการดำเนินการควรจะเสนอเป็นมาตรการรวมทั้ง Package เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆในสังคม เช่น ดำเนินการเก็บภาษีเพิ่มเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปฏิรูปที่ดินด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปภาษีนอกจากสร้างความเป็นธรรมและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สำคัญที่สุด คือ การสร้างฐานรายได้ที่ยั่งยืนระยะยาวและมากพอที่จะนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆในการบริการประชาชน รวมทั้งการลงทุนทางด้านการศึกษา สาธารณสุขและระบบสวัสดิการต่างๆ ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจทำให้การปฏิรูปการคลังต้องล่าช้าออกไปทั้งระบบ และทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้จ่าย การเดินหน้าดำเนินการพร้อมกับการประชาสัมพันธ์น่าจะทำให้เกิดความสำเร็จได้ในรัฐบาลชุดนี้ และเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งจะเป็นผลงานสำคัญในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่า และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ระบบภาษีของไทยนั้นเป็นภาระต่อผู้มีรายได้น้อยมากกว่าผู้มีรายได้สูงเนื่องจากรัฐบาลไทยพึ่งภาษีทางอ้อมเป็นหลัก นอกจากนี้การใช้จ่ายของภาครัฐหลายส่วนก็เอื้อกับคนรวยมากกว่าคนจน และ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองใหญ่กับชนบท เช่น การก่อสร้างถนนและขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพและปริมณฑล การเน้นก่อสร้างถนนมากกว่าระบบขนส่งมวลชน การอุดหนุนการจัดการการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากกว่าระดับพื้นฐาน เป็นต้น หากไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ยากที่จะทำให้ระบบการเมืองไทยมีเสถียรภาพและประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ