ทปอ.เปิดตัว 3 ช่องทางเข้าถึงงานวิจัยมาสเตอร์พีชไทย หวังปลุกเอกชนลงขันหนุนสร้างนวัตกรรมเสริมภูมิ

ข่าวทั่วไป Monday May 11, 2015 17:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--เดอะบิ๊กพอตเตอร์ คอมมิวเตอร์ คอมมิวนิเคชั่น ทปอ.เปิดตัว 3 ช่องทางเข้าถึงงานวิจัยมาสเตอร์พีชไทยหวังปลุกเอกชนลงขันหนุนสร้างนวัตกรรมเสริมภูมิที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ผนึกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย จัดเวทีเสวนา “ทิศทางต่อยอดงานวิจัย:พลังขับเคลื่อนไทยสู่อนาคต” ฟันธงถึงเวลาขับเคลื่อนชาติด้วยพลังวิจัย และพัฒนา พร้อมเปิดตัว Eduzine นิตยสาร “ความรู้สู่สังคม” Application และ Website หวังสร้างช่องทางเข้าถึง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และส่งต่อผลงานนักวิจัยไทย เสริมภูมิของภาคธุรกิจบู๊เศรษฐกิจขาลง ศ.ดร.ประสาท สืบค้า ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. เปิดเผยว่าที่ผ่านมา ทปอ.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือ ความคิด การสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างมหาวิทยาลัยสมาชิก รวมทั้ง ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และนำเสนอความคิดเห็น เสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติผ่านงานวิจัย กว่า 43 ปี ที่ ทปอ.ทำหน้าที่ดังกล่าวนั้น ปัญหาการเข้าถึง และการรับรู้ว่างานวิจัยได้มีการเผยแพร่ และสามารถใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างบรรยากาศการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อสร้างนักวิจัยอาชีพทั้งในภาครัฐและเอกชนกลายเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในภาคเศรษฐกิจของประเทศ ทปอ. จึงได้จัดทำโครงการ "การจัดทำหนังสือบทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการพัฒนาประเทศด้วยการวิจัย (University Role in Country Development by Research) และอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดทำช่องทางการเผยแพร่ผลงานวิจัยของนักวิจัย ผ่านนิตยสาร “ความรู้สู่สังคม”Application(iOS และ Android) และ website เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่าง นักวิจัย นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป โดยเนื้อหาของหนังสือเน้นเป็นรูปแบบการนำเสนองานวิจัยที่ร่วมสมัย อ่านง่าย เข้าใจง่าย เหมือนแมกกาซีนทั่วไป แบ่งหัวข้อการนำเสนอเป็นหมวดหมู่ 6 หมวดหมู่คือ 1. Value Added: เน้นงานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิต /เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต/ผลิตภาพของผลิตภัณฑ์หรือพัฒนาต่อยอดความเชี่ยวชาญ เพิ่มมูลค่าให้สินค้า และบริการภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือนวัตกรรมเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ 2. Partnership: เน้นงานวิจัยที่ย้ำความเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ระหว่าง นักวิจัย นักธุรกิจ และชุมชน หรืองานวิจัยที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เอื้อประโยชน์ต่อกันและกัน 3. Trend to Success: เทรนด์ของงานวิจัยใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังไม่เคยปรากฏ สามารถทำเชิงธุรกิจได้ เช่น การวิจัยพัฒนาผลิตพลังงานทดแทนจากผลิตภัณฑ์เหลือใช้จากปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเช่นการวิจัยพัฒนาเครื่องสำอางค์หรือยาจากสมุนไพรไทยเป็นต้น 4. Beyond Hub: นำเสนองานวิจัยที่ช่วยพัฒนายกระดับการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทาน หรือการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค อาเซียน เอเชีย ในด้านต่าง ๆ ของไทย เช่นระบบโลจิสติกส์ IT หรือ อุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร งานวิจัยที่ยกระดับการศึกษา เป็นต้น 5. Quality of Life : เน้นงานวิจัยที่สร้างคุณภาพชีวิตคนในสังคม ให้อยู่ในสังคมอย่างสงบสุข เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อาจเป็นงานวิจัยเชิงชุมชน หรือพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้อง 6. หมวดงานวิจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลโดยรวมต่อการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างองค์ความรู้ต่อสังคมโดย Eduzine นิตยสาร “ความรู้สู่สังคม” นี้ จะออกเป็นราย 4 เดือน นอกจากนิตยสารแล้วทปอ. ยังได้จัดทำ website เผยแพร่เนื้อหาของนิตยสารทาง www.thaieduzine.org และ Applicationผ่านไอแพด ระบบ iOS และแทบเล็ต ระบบ Android ที่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของงานวิจัยแต่ละเล่มได้ต่อเนื่อง ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในสร้างสังคมการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ระหว่าง ภาควิชาการและอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันของภาคธุรกิจในที่สุด “สำหรับเนื้อหาในเล่มแรกนี้ นำเสนอผลงานวิจัย 6 โครงการ ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการสุขภาพ เช่น ถุงลอกเซลล์ผิวเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานของ ศ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดผลิตออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว หรือ โครงการวิจัยเชื้อเพลิงทางเลือกจากขยะพลาสติก ของ ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีที่พัฒนาโรงงานแปรรูปขยะพลาสติก ให้สามารถผลิตน้ำมันได้ 4,000 - 5,000 ลิตร จากขยะพลาสติก 6,000 กิโลกรัม เป็นต้น ผลงานวิจัยเหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือของนักวิจัยไทย สิ่งนี้จึงเป็นจุดที่ ทปอ. ต้องการให้ทั้งภาครัฐ และเอกชนหันมาให้ความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ และทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันเพื่อให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้” ทางด้าน ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.เปิดเผยในโอกาสร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตงานวิจัยไทย ...จากนี้ไป” ว่า ที่ผ่านมาทิศทางของงานวิจัยของไทย มีการวางเป้าหมายที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น จากตัวเลขของงบประมาณการวิจัยภาครัฐในปีผ่านมาอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงานวิจัยที่นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ถึง 1,958 โครงการ คิดเป็น 46.90% ของงบประมาณทั้งหมด รองลงมาเป็นงานวิจัยด้านวิชาการ 23.52% ด้านสังคมและชุมชน 21.32% และสุดท้ายด้านนโยบาย 8.26%ในส่วนภาคเอกชนมีการลงทุนวิจัยประมาณ 45% หรือราว 1 หมื่นล้านบาท และเมื่อนำตัวเลขมาคำนวณ จะทำให้งบประมาณด้านการวิจัยรวมของประเทศจะอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ GDP ในปีดังกล่าวที่ 13 ล้านล้านบาท งบวิจัยจะอยู่ที่ 0.2% ของGDP ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน โดยผู้นำในภูมิภาคนี้คือ สิงคโปร์ คือราว 2.24% ต่อ GDPส่วนไทยเราอยู่ที่อันดับ 3 ของภูมิภาค และผลจากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของธนาคารโลก จัดให้ไทยอยู่ในระดับรายได้ปานกลาง (Middle Income Tier) ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับทรงตัวหรือมีทิศทางปรับตัวลดลง โดยเป้าหมายการสนับสนุนงบประมาณด้านงานวิจัยของประเทศในปี 2559 จะอยู่ที่ 1% ของ GDP ที่ประมาณการอยู่ที่ 130,000 ล้านบาท คิดเป็น 1,300 ล้านบาท โดยงบประมาณดังกล่าว จะขับเคลื่อนงานวิจัยที่จะตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน และระดับนโยบาย คือการวิจัยผลผลิตทางการเกษตร ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย น้ำตาล และปาล์มน้ำมัน งานวิจัยด้านโลจิสติกส์ งานวิจัยด้านสุขภาพและการวิจัยระบบราง เป็นต้น ควบคู่ไปกับงานวิจัยสร้างฐานความรู้ และการสร้างนักวิจัยใหม่ แต่ทิศทางของการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานทางด้านการวิจัยต้องได้รับการปฏิรูประบบวิจัยเพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน ตั้งแต่ระดับนโยบาย แหล่งทุน หน่วยงานทำวิจัย และผู้ใช้ผลงานวิจัยที่ชัดเจน ให้สามารถใช้งานได้จริง โดยยึดประโยชน์ประเทศเป็นหลักเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรม คุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เพื่อเป็นจุดเชื่อมระหว่าง ภาควิชาการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างบูรณาการยั่งยืนในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ