หลักสูตร “Postharvest Technology” สิ่งจำเป็นต่อสินค้าเกษตรไทย

ข่าวทั่วไป Friday May 22, 2015 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และเป็นประเทศในอันดับต้นๆของโลกในการส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ข้าว อ้อย ยางพารา ผัก ผลไม้ หรือไม้ตัดดอกอย่างกล้วยไม้ แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ทำได้เช่นกัน ดังนั้นถึงเวลาที่ไทยต้องทบทวนว่าผลผลิตที่ส่งออกไปนั้นยังรักษาระดับผู้นำด้านคุณภาพได้ดีหรือไม่ และแนวทางใดที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมส่งออกสินค้าเกษตรของไทยสามารถเติบโตไปอีกขั้น ดังนั้นการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะผลักดันอุตสาหกรรมส่งออกผลผลิตทางการเกษตรให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ซึ่งกลไกสำคัญก็คือการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ด้านเกษตรและการส่งออกของประเทศ ด้วยเหตุดังกล่าวประเทศไทยได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตามแนวคิดพื้นฐานและเจตนารมณ์ของศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และความสนใจในวิทยาการที่คล้ายคลึงกัน ร่วมกันศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำความรู้มาถ่ายทอดให้นักศึกษา ทั้งนี้ศูนย์นวัตกรรมได้ให้การสนับสนุนด้านบุคลากร งบประมาณด้านค่าวัสดุวิทยาศาสตร์ เครื่องมืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์และระบบสารสนเทศที่ทันสมัย โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ก็เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาร่วมของศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภายใต้คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตร กล่าวว่า หลักสูตรนี้เปิดมาประมาณ 20 ปีแล้ว มีการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้เกิดการคิดและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาตลอดจนมุ่งผลิตผลงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านผลผลิตเกษตร ลดความเสียหายและคงคุณภาพของผลิตผลจนถึงผู้บริโภค อันก่อให้เกิดการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพได้ทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก “หลักสูตรเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวของ มจธ. ต่างจากที่อื่นตรงที่เราเปิดสอนนักศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกเท่านั้น โดยเน้นการเรียนการสอนแบบ hands-on learning สามารถแก้โจทย์ปัญหา ต่อยอดและสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ แบบมืออาชีพและที่สำคัญเป็นแห่งเดียวที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ เพราะเรามองว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะบุคคลากรที่จะออกไปทำงานในเส้นทางอุตสาหกรรมเหล่านี้ถ้าสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ชีวิตการทำงาน รวมถึงการเลือกตำแหน่งงานก็จะกว้างขึ้น ยิ่งเมื่อเรากำลังเป็น AEC นอกจากนั้นยังมีทุนการศึกษาจำนวนมาก เช่น ทุนเพชรพระจอมเกล้า ทุนวิจัย และทุน Internship ณ มหาวิทยาลัยต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรกับ มจธ. เป็นต้น” ดร.ณัฐชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการศึกษาในปัจจุบันโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่สนใจเรียนด้านเกษตรน้อยลง เพราะส่วนใหญ่มองว่าการเรียนเกษตรไปแล้วต้องทำงานหนัก ต้องทำไร่ ทำสวน อย่างเดียว เรียนแล้วไม่โก้เก๋ แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทำให้การเกษตรในยุคนี้เปลี่ยนไปแต่ประเทศไทยกลับยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงซึ่งประเทศไทย (ทั้งภาครัฐและเอกชน) ก็มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อีกมาก และ มจธ. ได้เล็กเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงพร้อมให้การสนับสนุนและพัฒนานักศึกษาที่มีความสนใจในด้านนี้อย่างเต็มที่ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมาแก้ปัญหาด้านผลิตผลทางการเกษตรและส่งสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป สำหรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรีทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีทางการเกษตร วิทยาศาสตร์การเกษตร หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง ที่สนใจศึกษาต่อสามารถติดตามรายละเอียดหลักสูตรเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ทุนการศึกษา และข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kmutt.ac.th/postharvest หรือ 02-470-7733-34

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ