“ปลัดเกษตรฯ” ขอความร่วมมือเกษตรกร ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากฝนที่ตกลงมาล่าช้ากว่าปกติ คาดฝนจะมาปกติในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม

ข่าวทั่วไป Friday June 12, 2015 08:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการดำเนินงานตามนโยบาย ว่า จากการที่กรมชลประทานประกาศขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดนั้น เนื่องจากสถานการณ์น้ำที่มีน้อย โดยเฉพาะปริมาณฝนที่ตกล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้เหลือน้ำที่ใช้ได้ประมาณ 1,400 ล้าน ลบ.ม. หากฝนยังไม่ตกเลย จะสามารถใช้น้ำได้ 40 วัน จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม ซึ่งจากเดิมสามารถปล่อยน้ำได้วันละ 60 ล้าน ลบ.ม./วัน เหลือเพียงวันละ 30 – 35 ล้าน ลบ.ม./วัน เพื่อสามารถสนับสนุนเพียงพอเฉพาะน้ำที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภค และน้ำที่ใช้ในการรักษาระบบนิเวศน์ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว จำนวน 2.84 ล้านไร่ เท่านั้น จึงประกาศขอความร่วมมือเกษตรกรที่ยังไม่ได้ปลูกประมาณ 6 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 4 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2 ล้านไร่ ให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าฝนจะมาปกติในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยจะยังไม่สร้างความเสียหายต่อการเพาะปลูกข้าวนาปี นายชวลิต กล่าวต่อไปว่า ได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งจัดทำรายงานข้อเท็จจริงถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อน รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ โดยจะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีให้ทันในการประชุมครั้งหน้าต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อน ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับอยู่แล้วถึง 13 ฐาน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งจัดทำแผนที่การเพาะปลูกว่าตรงไหนที่มีการเพาะปลูกไปแล้ว และยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก โดยจะขอข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ขณะเดียวกัน ยังได้พิจารณาในเรื่องของโครงการและการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งหากมีเรื่องของฝนทิ้งช่วง จะมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชแบบแห้งสลับเปียกในพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว และสำหรับพื้นที่อีก 6 ล้านไร่ที่ยังไม่ได้มีการเพาะปลูก จะส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น ปุ๋ยพืชสด หรือพืชที่ใช้น้ำน้อย เป็นต้น หากเกษตรกรเกิดข้อสงสัย สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ ซึ่งพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มความสามารถ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ