เกษตรกรได้เฮ ปีนี้ผลไม้ราคาดี สศก. เผย ครั้งแรกในรอบหลายปี ไม่ต้องขอสนับสนุนงบ คชก.

ข่าวทั่วไป Wednesday June 24, 2015 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยสถานการณ์ไม้ผล 4 ชนิด (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในพื้นที่ตะวันออกปี 2558 ให้ผลผลิตรวม 721,100 ตัน ลดลงร้อยละ 7 จากปีที่ผ่านมา แจง กรกฎาคมนี้ ยังมีลำไยพร้อมออกสู่ตลาด โดยเฉพาะลำไยนอกฤดูซึ่งให้ผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 20 มั่นใจ ปีนี้ปีทองของเกษตรกร เนื่องจากราคาดี และนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐจาก คชก. เข้ามาช่วยเหลือ นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ผลสำรวจข้อมูลไม้ผลเอกภาพ ปี 2558 ภาคตะวันออก จำนวน 4 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด และระยอง โดยผลไม้ในปีนี้กระจุกตัวช่วงปลายพฤษภาคมถึงมิถุนายน ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 18มิถุนายน 2558 พบว่า ผลผลิตผลไม้ทั้งปี 2558 รวมทั้ง 4 สินค้าประมาณ 721,100 ตัน ลดลงจากปี 2557 ที่จำนวน 777,500 ตัน หรือ ลดลงร้อยละ 7 แต่ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้ทั้ง 4 ชนิด ออกสู่ตลาดประมาณ 347,300ตัน เพิ่มขึ้นจาก 234,600 ตันในช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 48 ประกอบกับราคาผลไม้ช่วงนี้อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มูลค่าผลไม้เพิ่มขึ้นจาก 10,700 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 17,300 ล้านบาท ในปี 2558 ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า หากจำแนกผลไม้แต่ละชนิด พบว่า ทุเรียน ปี 2558 ทั้งปี คาดว่าให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 3 จาก 348,200 ตันของปี 2557เหลือ 338,500 ตันของปี 2558 แต่ในช่วงเดือน ม.ค. –พ.ค. มีผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นจาก 140,500 ตันของปี 2557 เป็น 234,300 ตันของปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 และมีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50 บาท เพิ่มขึ้นจาก กิโลกรัมละ 46 บาทของปี 2557 ส่งผลให้มูลค่าผลผลิตทุเรียนในช่วงเดือนม.ค. –พ.ค. 2558 เป็น 11,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6,500 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 83 เงาะ ปี 2558 ทั้งปี คาดว่าให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 6 จาก 229,500 ตัน ของปี 2557 เหลือ 216,000 ตันของปี 2558 แต่ในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. มีผลผลิตเงาะเพิ่มขึ้นจาก 54,100 ตันของปี 2557 เป็น 76,800 ตันของปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 และมีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 35 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 31 บาทของปี 2557 ส่งผลให้มูลค่าผลผลิตเงาะในช่วงเดือน ม.ค.– พ.ค. 2558 เป็น 2,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,700 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 59 มังคุด ปี 2558 ทั้งปี คาดว่าให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 20 จาก 143,500 ตัน ของปี 2557 เหลือ 114,300 ตันของปี 2558 โดยในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. มีผลผลิตมังคุดลดลงจาก 39,300 ตันของปี 2557 เป็น 32,900 ตันของปี 2558 หรือลดลงร้อยละ 16 และมีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 79 บาท เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 64 บาทของปี 2557 ส่งผลให้มูลค่าผลผลิตมังคุดในช่วงเดือน ม.ค. –พ.ค. 2558 เป็น 2,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,500 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ลองกอง ปี 2558 ทั้งปี คาดว่าให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 7 จาก 56,300 ตัน ของปี 2557 เหลือ 52,400 ตันของปี 2558 แต่ในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. มีผลผลิตลองกองเพิ่มขึ้นจาก 680 ตันของปี 2557 เป็น 3,300 ตันของปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 385 ขณะที่มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 52 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 61 บาทของปี 2557 อย่างไรก็ตาม ยังส่งผลให้มูลค่าผลผลิตลองกองในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค.2558 เป็น 170 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 42 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 304 นอกจากไม้ผลทั้ง 4 ชนิดแล้ว สำหรับเดือนกรกฎาคม จะมีลำไยที่ออกสู่ตลาด ซึ่งถือเป็นไม้ผลส่งออกที่สำคัญ โดยในปี 2558 แม้จะมีลำไยในฤดูน้อยกว่าปกติ ร้อยละ 30 แต่ลำไยนอกฤดูพบว่ามีผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 20 ส่งผลให้สถานการณ์โดยรวมของลำไยผลผลิตไม่ลดลง นอกจากนี้ ทางกรมส่งเสริมการเกษตร ยังได้เน้นในเรื่องของการส่งเสริมการปลูกลำไยนอกฤดู ทั้งในเรื่องของผลผลิตและการควบคุมคุณภาพเนื่องจากเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างดี ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว จึงถือได้ว่า ปี 2558 เป็นปีทองของเกษตรกร เนื่องจากผลไม้ราคาดี อีกทั้งในส่วนที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีผลไม้จากภาคใต้ออกมาพร้อมๆ กับทางภาคตะวันออกนั้น เมื่อคาดการณ์พบว่า ไม่มีการออกมาชนกัน ทำให้ราคาจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรไม่ลดต่ำลงอย่างแน่นอน ซึ่งจากข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ออกมาตรงกันว่า ปีนี้ ผลไม้ภาคใต้จะออกล่าช้ากว่าภาคตะวันออกจากปกติไปอีกเกือบ 1 เดือน ดังนั้น ปีนี้ถือเป็น ครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐ จากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เข้ามาช่วยเหลือเรื่องราคาผลไม้ตกต่ำของเกษตรกรอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ