รมว.แรงงานฯ ร่วมประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ที่นอร์เวย์

ข่าวทั่วไป Wednesday October 29, 1997 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--กทม.
นายมนตรี ด่านไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคม 2540 ตนจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อม นายฐาปบุตร ชมเสวี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเจ้าหน้าที่กองแรงงานหญิงและเด็ก ทั้งนี้จะได้ร่วมประชุมระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์เป็นการกำหนดบทบาทของการพัฒนาด้านความร่วมมือและรูปแบบความร่วมมืออื่นๆ ในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพของแรงงานเด็ก โดยเฉพาะแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี
นายมนตรีกล่าวว่า การประชุมต่อต้านการใช้แรงงานเด็กนี้ ทางรัฐบาลนอร์เวย์ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอ แอล โอ และองค์การกองทุนเพื่อพัฒนาเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟจัดขึ้น ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมว่าด้วยปัญหาแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงอัมสเตอร์ดัม และการประชุมระดับภูมิภาคอีก 3 แห่ง เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นและเตรียมร่างแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีด้านความร่วมมือในการพัฒนาด้านแรงงาน การศึกษาสวัสดิการสังคมและยุติธรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสทั้งจากประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาในทุกภูมิภาครวม 40 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้นำจากองค์กรฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรของสหประชาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานเด็กอีกด้วย
สำหรับการประชุมจะใช้เวลารวม 3 วันครึ่ง โดยในช่วง 2 วันแรก จะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิชาการก่อนที่จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีในช่วงสุดท้าย ซึ่งจะมีการรับรองแนวปฏิบัติในการต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก (Agenda for Action) ใน 3 ประเด็นคือ ประเด็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะการศึกษาเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับการใช้แรงงานเด็ก โดยยูนิเซฟ ไอ แอล โอ และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ จะใช้นโยบายจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนที่ต้องการ ส่วนประเด็นการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น ที่ประชุมจะได้พยายามรวบรวมประสบการณ์ในทางบวกจากผู้แทนองค์กรฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง องค์กรภาคเอกชนและบุคคลอื่นๆ ที่มีบทบาทต่อการเคลื่อนย้ายชุมชน และการพัฒนากิจกรรมที่สนับสนุนการขจัดการใช้แรงงานเด็ก สำหรับประเด็นสุดท้ายคือมาตรการด้านกฎหมายนั้น จะเห็นได้ว่ามีความก้าวหน้าเพื่อให้การคุ้มครองมิให้มีการเอารัดเอาเปรียบจากการใช้แรงงานเด็กมากขึ้น ดังนั้น ที่ประชุมจึงให้ความสนใจกับมาตรการต่างๆ ที่ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะกับแรงงานเด็กที่อยู่ในภาคธุรกิจที่ไม่มีระบบนั้นจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ
นอกจากนี้นายมนตรี รวม.แรงงานฯ ยังชี้แจงว่าตนจะได้กล่าวถ้อยแถลงในนามของประเทศไทยในวันที่ 29 ตุลาคม 2540 โดยเน้นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาแรงงานเด็กของไทย ซึ่งจะมีแนวทางต่างๆ ทั้งการออกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และกำลังพิจารณาออก พ.ร.บ.การค้าหญิงและเด็กรวมทั้ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะได้เพิ่มอายุขั้นต่ำสำหรับการอนุญาตผู้จะทำงานได้เป็น 15 ปี ร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับนี้อยู่ระหว่างรอพิจารณาของวุฒิสภา
รมว.แรงงานฯ กล่าวว่า หากพิจารณาอย่างลึกๆ แล้วปัญหาแรงงานเด็กเป็นผลจากปัญหาอื่นๆ เช่นความยากจน ขาดการศึกษา การปลูกฝังค่านิยมทางวัฒนธรรมและสังคม ประเทศไทยเราจึงได้กำหนดแผนงานเฉพาะเป็นการขจัดการใช้แรงงานเด็ก แผนขจัดการใช้เด็กในธุรกิจทางเพศ และแผนพัฒนาครอบครัว ขณะเดียวกันก็ยังเร่งปรามปรามการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบเลวร้ายที่สุดเช่น การเกณฑ์แรงงาน การค้าประเวณี และการจ้างงานเด็กในงานอันตราย ซึ่งเป็นความเลวร้ายที่จะต้องยุติโดยเด็ดขาด ประกอบกับจะต้องเน้นเรื่องการปลุกจิตสำนึก การขยายการศึกษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจะมีโครงการต่างๆ มารองรับเช่น โครงการเสมาพัฒนาชีวิตที่จัดเพื่อให้เด็กหญิงได้รับการศึกษาอบรมเพื่อเลี่ยงการค้าประเวณี เป็นต้น และกำลังพยายามขยายการคุ้มครองแรงงานเด็กไปสู่ภาคเกษตรกรรมด้วย ซึ่งองค์การต่างๆ เหล่านี้จะได้สนับสนุนประเทศไทยภายใต้โครงการ ไอแอลโอ-ไอเปค เนื่องจากปัญหาการใช้แรงงานเด็กต่างชาติและการค้าประเวณีเด็กข้ามชาติมีเครือข่ายในหลายประเทศ หากจะให้การปฏิบัติเป็นรูปธรรมจะต้องตั้งหน่วยพิเศษเพื่อปราบปราม เป็นต้น
ผู้สนใจการประชุมสามารถติดตามได้จากอินเตอร์เนทเว็บไซต์ของยูนิเซฟ คือ http://www.unicef.org และของไอแอลโอ http://ww.jlo.org นอกจากนี้ ยูนิเซฟยังได้ทำเว็บเพจ ชื่อ "Children and Work" เป็นส่วนหนึ่งของเว็ปไซต์สำหรับเด็กชื่อ "Voices of Youth" ให้ข้อมูลเรื่องแรงงานเด็ก รวมทั้งสถิติ กรณีศึกษา ภาพถ่ายและเชื่อมโยงกับเว็บไชต์อื่นๆ เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนองค์กรเพื่อเด็ก โรงเรียนและเยาวชนผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ ทั่วโลกที่ http://www.unicef.org/voy. อีกด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ