บลจ.กสิกรไทยมองเศรษฐกิจอาเซียนฉายแววโดดเด่น เล็งคลอดกองทุนหุ้นอาเซียน คาดเปิดขายภายในไตรมาส 3 เผยมูลค่าหุ้นยังต่ำ แต่ศักยภาพเติบโตสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 3, 2015 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--บลจ.กสิกรไทย นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ Asean Economic Community (AEC) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปลายปี 2558 นี้ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก เนื่องจากการรวมตลาดและฐานการผลิตที่เป็นหนึ่งเดียวกัน จะทำให้ภูมิภาคเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และยังช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับบริษัทจดทะเบียนในประเทศสมาชิกให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้นด้วย บลจ.กสิกรไทยจึงมีแผนที่จะขยายการลงทุนโดยตรงไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปศึกษา ติดตามเศรษฐกิจและพัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนวิเคราะห์หลักทรัพย์ของประเทศในกลุ่มสมาชิกอย่างใกล้ชิด โดยเริ่มต้นจากประเทศหลักๆ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากมองเห็นศักยภาพในการเติบโตของประเทศเหล่านี้ นางสาวธิดาศิริกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศในอาเซียน มีจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 10% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเป็นมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และเยอรมนี ส่วนมูลค่าตลาดหุ้น (Market Cap) ของอาเซียน มีมูลค่ารวมกันประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 4% ของตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงศักยภาพในการเติบโตของอาเซียนตลอดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 6% ต่อปี ผนวกกับภาครัฐมีการใช้งบประมาณด้านการพัฒนาสาธารณูปโภคเป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง รวมถึงการที่ประชากรซึ่งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะทำให้เม็ดเงินจากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนและตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนยังมีศักยภาพในการเติบโตที่ดี และมองเห็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนได้อีกมาก "การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มประเทศอาเซียน นับว่าเป็นการช่วยกระจายการลงทุนและลดความผันผวนของพอร์ตโฟลิโอที่ดี โดยการศึกษาข้อมูลในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2548-2557 พบว่าการลงทุนในดัชนีหุ้นของ 4 ประเทศในอาเซียนในสัดส่วนที่เท่ากัน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และไทย สามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 15.40% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12.10% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนใน 4 ประเทศดังกล่าวมีความผันผวนต่ำกว่า ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 18% เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทยที่มีความผันผวนเฉลี่ย 21% นอกจากนี้ การลงทุนในอาเซียนยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจ แต่ในประเทศไทยอาจไม่มีศักยภาพในการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น เนื่องด้วยข้อจำกัดต่างๆ อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศ หรือทักษะของแรงงาน" นางสาวธิดาศิริกล่าว ตั้งแต่ต้นปี 2557 ที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทยได้จัดส่งทีมงานจัดการกองทุนตราสารทุนกว่า 10 คน เพื่อเข้าไปศึกษา เยี่ยมชมกิจการและวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในหุ้นของแต่ละประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยมีการวิเคราะห์หุ้นเชิงลึกในรายตัวครอบคลุมกว่า 150 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของมูลค่าตลาดทั้งหมดใน 3 ประเทศ และได้ประเมินอัตราการเติบโตทางกำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 ประเทศ (รวมประเทศไทย) ในปี 2559 ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 14% ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยมีแผนที่จะออกกองทุนหุ้นอาเซียน ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้น และยังสามารถลงทุนในตราสารหนี้ เงินฝากหรือหลักทรัพย์อื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ โดยกองทุนสามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ได้ตั้งแต่ 0%-100% เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดในแต่ละขณะ โดยจะเน้นลงทุนใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปิดขายกองทุนได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างขั้นตอนขออนุมัติร่างหนังสือชี้ชวนกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นางสาวธิดาศิริกล่าวต่อไปว่า กองทุนจะมุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการเติบโตของมูลค่าหุ้นในระยะยาว โดยจะลงทุนในหุ้นทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนไม่เกิน 30 ตัว ที่มีสภาพคล่องและศักยภาพในการเติบโตสูง รวมถึงเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมใน 4 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและไทย โดยมีหลักในการพิจารณาคัดเลือกหุ้น จากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานในระดับบริษัท (Bottom-up / Fundamental Approach) ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และผู้จัดการกองทุนมีการประเมินมูลค่าหุ้น (Stock Valuation) โดยพิจารณาเรื่องความได้เปรียบในการแข่งขัน ระดับราคาที่เหมาะสม รวมถึงการมีบรรษัทธรรมาภิบาลที่ดี และจะพิจารณาธีมการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง ซึ่งปัจจุบันเน้นหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายภาครัฐและการบริโภคในประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ