กระทรวงเกษตรฯ ลงนาม MOU ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ปลดล็อกส่งออกสินค้าเกษตรไปจีน หนุนภาคเกษตรกรรม นำรายได้เข้าประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday July 13, 2015 08:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังการลงนามในรายงานการประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชระหว่างไทย-จีน (JTC-PSP) ครั้งที่ 5 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)และกรมวิชาการเกษตร ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสนับสนุนการค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านการค้าระหว่างไทย-จีน ซึ่งจะเป็นกลไกในการหารือเพื่อแก้ไขประเด็นอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรของทั้งสองประเทศต่อไป สำหรับประเด็นในการประชุมครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน โดยฝ่ายไทยได้ชี้แจงผลการดำเนินงานและหยิบยกประเด็นสำคัญๆขึ้นมาหารือ อาทิ ประเด็นการส่งออกรังนก การส่งออกผลิตภัณฑ์นมจากไทยไปจีน การขึ้นทะเบียนสำหรับส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงและปลาป่น เป็นต้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าต่างๆอย่างจริงจัง ด้านการส่งออกชมพู่ทับทิมจันทร์จากไทยไปจีน ซึ่งก่อนหน้านี้จีนออกประกาศระงับการนำเข้าจากไทยชั่วคราว ตั้งแต่ 31 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา และผลจากการประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงข้อสรุปและเห็นชอบร่วมกันตามผลการทดลองแก้ไขปัญหาแมลงวันผลไม้ที่เคยตรวจพบในผลชมพู่ที่ส่งออกไปจีน จึงเป็นผลให้มีข้อยุติในประกาศดังกล่าว และในวันเดียวกันนี้?นายอภิชาต พงศ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นตัวแทนฝ่ายไทย ลงนามใน"ร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับชมพู่ส่งออกจากไทยไปจีน" กับผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) โดยหลังจากการลงนามแล้ว AQSIQ จะทำการประกาศขั้นตอนในการปฏิบัติสำหรับทั้งสองประเทศลงในเว็บไซด์ และฝ่ายไทยจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่คงค้าง จากนั้นจีนจะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวก่อนจะพิจารณาอนุมัติให้มีการนำเข้าชมพู่จากไทยไปจีน และ AQSIQ จะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุญาตนำเข้าทางเว็บไซด์ต่อไป ทั้งนี้จะส่งผลให้โรงคัดบรรจุและสวนที่อยู่ระหว่างการทดลองส่งออกในปัจจุบันอีก 8 สวน 2โรงคัดบรรจุ จากทั้งหมด 18 สวน 5 โรงคัดบรรจุ สามารถส่งออกได้ตามปกติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ