แยกคำว่า “คน” ออกจากคำว่า “พิการ” ก้าวแรกสำหรับสังคม สู่การสนับสนุนศักยภาพและความฝันเด็กพิการ

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2015 14:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--เฟลชแมน ฮิลลาร์ด ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาทั้งภาคสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการยกระดับการศึกษาเพื่อสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ หากแต่กลุ่มผู้พิการยังขาดโอกาสหรือแม้แต่การมีส่วนร่วมในสังคม ทำให้ผู้พิการขาดการยอมรับในความสามารถและศักยภาพของพวกเขา รวมไปถึงขาดความมั่นใจในการก้าวเดินไปตามความฝันของตัวเอง จนถูกจำกัดทางด้านอาชีพและการใช้ชีวิต ในการสัมภาษณ์พิเศษหัวข้อ “เด็กพิการในสังคมไทยกับการก้าวไปสู่ความฝัน: ภาครัฐและภาคเอกชนจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนศักยภาพเด็กพิการได้อย่างไร” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมด้วยสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย คุณศุภชีพ ดิษเทศ ประธานมูลนิธิคนพิการไทย และนายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เผยว่า บุคคลพิการ ไม่ว่าจะพิการตั้งแต่กำเนิด หรือพิการโดยประสบอุบัติเหตุ ล้วนแต่เป็นบุคคลที่สังคมต้องให้การยอมรับมากกว่าที่เป็นอยู่ ข้อจำกัดของผู้พิการไม่ใช่ข้อจำกัดทางด้านร่างกาย เนื่องจากผู้พิการส่วนใหญ่นั้น สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพเพื่อชดเชยข้อจำกัดของตนเองได้ หากแต่ข้อจำกัดที่แท้จริงคือ ข้อจำกัดด้านโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการดำเนินชีวิตอย่างปรกติในสังคม โอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมในด้านต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอกาสในการพัฒนาศักยภาพ โอกาสทางการศึกษา โอกาสทางด้านอาชีพ โอกาสที่จะได้เดินตามความฝันของตนเอง “ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญมากในการที่จะช่วยให้คนพิการสามารถที่จะยืดหยัดอยู่ในสังคมได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเราต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อมีลูกพิการ พ่อแม่และครอบครัวต้องก้าวข้ามความพิการของลูกหลานให้พ้น ถ้าครอบครัวมีความเข้าใจ เด็กพิการก็จะสามารถก้าวข้ามความพิการนั้นได้เช่นกัน และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเรียน หรือวัยทำงาน พวกเขาก็จะมีโอกาสที่จะมองไกลกว่าความพิการ มีทิศทางของตนเองและไม่ต้องกลับมาสู่วงจรเดิมๆ ที่ถูกสังคมกำหนดไว้” คุณศุภชีพ กล่าว ด้านคุณมาลิสา พงษ์นภาภัท ตัวแทนผู้พิการกรณีตัวอย่าง เผยว่า ตั้งแต่ในวัยเด็ก เธอสงสัยมาตลอดว่า เหตุใดคนพิการจึงต้องขายลอตเตอรี่ และเธอจะทำอย่างไรเพื่อที่จะไม่ต้องดำเนินชีวิตไปตามวิถีที่ราวกับถูกชะตากรรมกำหนดไว้ “เราพยายามใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป คือเรียนมัธยมปลาย แล้วก็ต่อมหาวิทยาลัย พอเรียนจบเราก็ทำทั้งธุรกิจของตัวเอง รวมถึงสมัครงานไปหลายร้อยที่ แต่สุดท้าย บริษัทที่เรียกกลับมาก็ให้ไปทำงานในตำแหน่งโอเปอร์เรเตอร์รับโทรศัพท์ ทั้งๆ ที่เรียนจบเศรษฐศาสตร์มา” “จนวันหนึ่งก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมคนพิการมากมายถึงต้องไปขายลอตเตอรี่ เพราะไม่ว่าจะเรียนจบอะไรมา หรือเก่งกาจแค่ไหน ถ้าสังคมยังคิดว่าเราคือคนพิการ และยังไม่ยอมรับว่าคนพิการทำอะไรได้มากกว่าอาชีพขายลอตเตอรี่ อาชีพโอเปอร์เรเตอร์รับโทรศัพท์ เราก็จะเป็นได้แค่นั้น” คุณมาลิสา กล่าว รศ.อัจจิมา เศรษฐบุตร กรรมการและเลขานุการมูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยการกำกับดูแลของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ทางมูลนิธิเวชดุสิตฯ ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล และทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้พิการตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นว่าเด็กพิการบางคนมีความฉลาดและมีความสามารถมาก หากแต่ในหลายครั้ง เด็กขาดความเข้าใจจากครอบครัว ขาดการยอมรับและขาดโอกาสทางสังคม “ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิเวชดุสิตฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องของความเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการพยาบาล และสิ่งอุปโภค และบริโภค ให้กับองค์กรและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ง แต่เราไม่ต้องการเพียงเท่านี้ เพราะทางมูลนิธิเวชดุสิตฯเอง ตระหนักดีว่า การส่งเสริมผู้พิการโดยเฉพาะเด็กให้มีโอกาสทางสังคมนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำในระยะสั้นได้ และเราจึงต้องการที่จะช่วยพัฒนาและให้เด็กพิการได้รับโอกาสที่ยั่งยืน ให้เด็กพิการมีแรงบันดาลใจ มีความฝัน และสามารถทำตามความฝันของตนเองได้” “เราในฐานะภาคเอกชน และพลเมืองภาคองค์กร ก็สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดสังคมแห่งความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม รวมไปถึงการสร้างโอกาสทางสังคมอย่างจริงจัง ให้กับผู้ด้อยโอกาส รวมถึงเด็กผู้พิการ แต่ในขณะเดียวกัน สังคมของเราจะแข็งแรงได้ ก็ต้องเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และคนในสังคมทุกคน สิ่งสำคัญคือคนในครอบครัวต้องมีความเข้าใจและเป็นกำลังใจให้เค้า” รศ.อัจจิมา กล่าว “คนเราทุกคนมีความฝัน ไม่ว่าความฝันนั้นจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน แต่การที่จะทำตามความฝันได้นั้น สิ่งแรกคือเราต้องปลูกฝังเด็กพิการตั้งแต่เล็กๆ ว่า ไม่มีอะไรที่เขาทำไม่ได้ ทำให้เขาเชื่อมั่น เขาก็จะทำได้ โดยไม่ต้องคิดว่าเราจะรวยจะจน ขอแค่เชื่อมั่นว่าเราทำได้ อย่าสอนให้เขารับในสิ่งที่คนอื่นปฎิเสธเรา และเราก็ต้องคิดว่าเราก็เป็นคนเหมือนคนอื่น ถ้าเราคิดว่าเราเป็นคนพิการ ชีวิตเราจะรันทดทันที” คุณมาลิสา กล่าว จากข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2558) พบว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนพิการที่ลงทะเบียนทั้งหมด 1.70 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมด โดย 48% เป็นผู้บกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ขณะที่ 16% เป็นผู้พิการทางการได้ยิน 11% เป็นผู้พิการทางการมองเห็น และผู้พิการด้านอื่นๆ อีกกว่า 14% และแม้ว่าการศึกษาเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คนพิการกว่าครึ่งหนึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ และร้อยละ 42 ของผู้พิการที่ได้เรียนหนังสือก็จบเพียงชั้นประถมศึกษาขณะที่ผู้พิการที่จบระดับปริญญาตรีมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนี้ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่าร้อยละ 65 ของคนพิการที่มีอายุมากกว่า 15 ปีไม่มีงานทำ ส่วนคนที่มีงานทำในสาขาวิชาชีพนั้นอยู่ในอัตราส่วนน้อย ขณะที่ส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 50) ทำงานภาคเกษตรกรรมและการประมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ