ไอแคนแถลงอนาคตของอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดเมนใหม่ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนับพันล้านคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday August 19, 2015 16:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ ไอแคน (The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers - ICANN) องค์กรระดับนานาชาติที่มีหน้าที่หลักในการจัดสรรดูแลโดเมนและไอพีของระบบอินเทอร์เน็ตทั่วโลก พร้อมกับผู้นำและผู้บริหารด้านไอทีท้องถิ่นร่วมหารือกันในกรุงเทพวันนี้ ในหัวข้อสำคัญประกอบด้วย การพัฒนาระบบชื่อโดเมนและการเติบโตของอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความเป็นไปได้ของการขยายการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ตในภูมิภาค และการใช้อินเทอร์เน็ตในทางสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะหยิบยกเอาปัญหาที่เป็นอุปสรรคแห่งการขยายของอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคมาหารือกันด้วย รีนาเลีย อับดุล ราฮิม สมาชิกของคณะกรรมการไอแคน กล่าวว่า “ระบบการตั้งชื่อโดเมนหรือ DNS กำลังขยายตัว และมีศักยภาพหนุนเนื่องให้อินเทอร์เน็ตเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก และคาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ 15 ปีก่อน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกนั้นมีเพียง 500 ล้านคนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้มีผู้ใช้มากกว่า 3พันล้านคน และเกือบครึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผนวกกับสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาททำให้การใช้อินเทอร์เน็ตขยายตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น” “นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ไอแคนได้ให้ชื่อของโดเมนขั้นสูงสุดใหม่มากกว่า 700 รายการ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะการแสดงอัตลักษณ์และการมีที่พื้นที่ในโลกออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทั้งบุคคล องค์กร และบริษัทต่างๆ ดังนั้นการเพิ่มจำนวนชื่อโดเมนขั้นสูงสุดจะทำให้วิธีการที่เราใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งวิธีการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับตราสินค้าและธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง นี่เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ที่ได้ก่อกำเนิดมา“ รีนาเลียกล่าว โปรแกรมโดเมนขั้นสูงสุดทั่วไปใหม่นี้เป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ของระบบการตั้งชื่อโดเมน และมีความสามารถที่จะเพิ่มโดเมนใหม่ได้ถึง 1,300 โดเมน โปรแกรมนี้ยังนำไปสู่การตั้งชื่อโดเมนขั้นสูงสุดทั่วไปในภาษาท้องถิ่นหรือ IDNs ด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถใช้ตัวอักษรในภาษาหรือระบบการเขียนต่างๆมาตั้งเป็นโดเมนเนมได้ การทำเช่นนี้จะเอื้อให้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงโดยคนที่ใช้ด้วยภาษาอื่น ๆที่มีตัวเขียนต่างไปจากภาษาที่มีรากจากลาติน อย่างเช่น ไทย จีน ฮินดี ฯลฯ และนำไปสู่ระบบอินเทอร์เน็ตที่มีความเป็นสากลอย่างแท้จริง ที่สามารถรองรับภาษาอันหลากหลายได้ และในการนี้ จะทำให้คนนับพันล้านมีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้น “ในโลกนี้มีภาษาต่าง ๆ มากกว่า 6,000 ภาษา ซึ่งราวร้อยละ 50 นั้นใช้กันอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความหลากหลายเช่นนี้เองที่ท้าทายต่อพื้นที่ของระบบโดเมนเนมแบบเดิม หากแต่ IDNs จะสามารถรองรับความแตกต่างทางภาษาให้ปรากฎบนอินเทอร์เน็ตได้” มร. สามาด ฮุสเซน ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายโครงการชื่อโดเมนจากภาษาท้องถิ่น (Internationalised Domain Names - IDN) กล่าว ตอนนี้มีโดเมนเนมขั้นสูงสุดทั่วไปในภาษาท้องถิ่น 61 รายการที่ออกมาให้ใช้ได้แล้ว และมีรหัสประเทศของโดเมนเนมขั้นสูงสุด 47 ชนิดครอบคลุมประเทศและเขตการปกครองถึง 37 แห่ง ข้อมูลจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระบุว่ามีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยราว 35 ล้านคนคิดเป็นอัตราการเข้าถึงร้อยละ 54 จากจำนวนประชากรทั้งหมด และทั้งประเทศมีโทรศัพท์มือถือราว 97 ล้านหมายเลขและที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ก็มีจำนวนไม่น้อยเลย หลายฝ่ายคาดหมายว่าตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีกมากเมื่อมีการใช้ระบบโดเมนเนมขั้นสูงสุดและโดเมนชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นในภาษาไทย สำหรับการพูดคุยในครั้งนี้มีผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) มาให้ข้อมูลเรื่องงานกับชุมชนอินเตอร์เน็ตของไทยในการเผยแพร่การรับรู้และการพัฒนาระบบการตั้งชื่อโดเมนด้วยอักษรไทย รวมทั้งการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ต่าง ๆ
แท็ก เอเชีย   ไอที  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ