GPSC มองไทย...Biomass คือคำตอบสำคัญของพลังงานทางเลือก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2015 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง นายโกวิท จึงเสถียรทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายแผนงานองค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำของไทย เผยแผนด้านการทำโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือกว่า GPSC ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าที่เป็นโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration) ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงชนิดเดียว ควบคู่ไปกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก โดยมีทั้งโครงการพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ควบคู่กันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงานไฟฟ้า หรือ Waste to Energy เพราะนอกจากจะได้พลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการกำจัดขยะของเสียทั้งในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำลังศึกษาทั้งโครงการที่ใช้ขยะชุมชน หรือ Municipal Solid Waste (MSW) และที่ใช้ของเสียทางการเกษตร หรือ Agricultural Waste มาเปลี่ยนเป็นพลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า “GPSC ได้ตอบสนองต่อนโยบายของภาครัฐที่เน้นให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ กับ Waste to Energy และ ชีวมวล หรือ Biomass ที่สามารถนำพลังงานที่สะสมไว้มาใช้ประโยชน์ได้ เพราะตระหนักดีว่าจะเอื้ออำนวยและเหมาะสมต่อลักษณะของประเทศเรา เพราะประเทศไทยเราเป็นสังคมเกษตร จึงสามารถหาวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตรกรรมและกสิกรรมได้อย่างต่อเนื่องและหลากหลาย จึงน่าจะเป็นแหล่งพลังงานที่มีโอกาสที่ดีและพึ่งพาได้และมั่นคงกว่าลมหรือแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ จำเป็นจะต้องมีกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าปกติมาสำรองการผลิตอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่มีสายลมและแสงแดดเพียงพอสำหรับการผลิต ” นายโกวิท กล่าว “นอกจากนั้น GPSC ยังศึกษาเรื่องการใช้ขยะชุมชนควบคู่กันไป เพราะไม่ใช่แค่สามารถช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะได้เท่านั้น แต่จะเป็นการสร้างประโยชน์จากขยะมูลฝอยและของเสีย ทำให้ชุมชนมีการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะเริ่มด้วยที่ระยองเป็นที่แรก เป็น “ระยองโมเดล” เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมสูง ในขณะเดียวกันก็มีขยะชุมชนจำนวนมาก การจะทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่กันไป ทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ต้องอาศัย Waste to Energy มาช่วย” สำหรับขั้นตอนการศึกษานั้น นายโกวิทกล่าวว่าขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานทั้งสองส่วน คือ การดำเนินการด้านใบอนุญาตต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และการเตรียมรายละเอียดงานก่อสร้าง สำหรับโครงการ Biomass ที่ใช้ของเสียและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนั้น จำเป็นต้องร่วมกับพันธมิตรจากภาคการเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงและต่อเนื่องในด้านแหล่งวัตถุดิบ โดยโรงไฟฟ้า Biomass คาดว่าขนาดที่เหมาะสมจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 6-10 เมกะวัตต์ เพราะหากก่อสร้างขนาดใหญ่กว่านี้ จะต้องพึ่งพาการขนส่งวัตถุดิบจากพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป ต้นทุนการขนส่งจะไม่คุ้ม
แท็ก ผลิตไฟฟ้า   gps  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ