สบส.สั่งเข้ม อสม.ลงพื้นที่ป้องกันไข้เลือดออกในชุมชน เน้นดูแลกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างใกล้ชิด

ข่าวทั่วไป Tuesday September 8, 2015 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จากสถานการณ์ไข้เลือดออกตลอดปี 2558 คาดการณ์ว่าอาจพบถึง 70,000 ราย โดยตั้งแต่ 1 ม.ค. – 18 ส.ค. มีผู้ป่วยสะสม 51,500 ราย มากกว่าปี 2557 ถึง 2 เท่า มีผู้เสียชีวิต 37 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ส่วนใหญ่พบในกลุ่มเด็กโต อายุ 10 – 14 ปี พบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 ถูกยุงลายที่อยู่ในบ้านกัด และผู้ที่เคยป่วยจากโรคนี้อาจป่วยซ้ำได้อีก น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสบส. ได้มอบหมายให้ สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต ทั่วประเทศกำชับให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่รณรงค์ให้ความรู้โรคไข้เลือดออกแก่ประชาชน และชักชวนให้สำรวจบ้านเรือนของตนเองว่ามีภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายหรือไม่ เช่นโอ่งน้ำใช้ ขาตู้กับข้าวมีหล่อน้ำกับมด โอ่งน้ำดื่ม ถังซีเมนต์ ภาชนะอื่นๆ เช่น จานรอง กระถางต้นไม้ ไห แจกันดอกไม้หรือพลูด่าง ยางรถยนต์ ภาชนะใส่น้ำให้สัตว์ และเศษขยะรอบบริเวณบ้าน เป็นต้น หากพบให้คว่ำหรือปิดภาชนะดังกล่าวให้มิดชิด รวมทั้งเก็บกวาดบ้านให้สะอาดเก็บขยะ เศษภาชนะรอบๆ บ้าน และเปลี่ยนน้ำในแจกันน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรการวางไข่ของยุงลาย อสม.เชิญชวนคนในชุมชนร่วมทำกิจกรรมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น เก็บขยะในชุมชน ถางหญ้าหรือวัชพืช เพื่อไม่ให้เป็นที่วางไข่ของยุงลาย และฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย เป็นต้น ในส่วนของวิธีป้องกันให้ห่างไกลจากไข้เลือดออก เช่น การนอน ควรนอนในมุ้งหรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลายและควรทายาป้องกันยุง สำหรับเด็กไม่ควรเล่นในมุมมืดหรือบริเวณที่ไม่มีลมพัดผ่าน ห้องเรียนหรือห้องทำงานควรมีแสงสว่างส่องได้ทั่วถึง มีลมพัดผ่านได้สะดวก เพื่อป้องกันให้คนในครอบครัว และชุมชนปลอดโรคไข้เลือดออก ด้าน นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพิ่มเติมว่า อสม.เป็นกำลังสำคัญใน การป้องกันไข้เลือดออกในชุมชน โดยการแนะนำให้ประชาชนสังเกตอาการคนในครอบครัว หากพบว่า มีไข้สูงลอยร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง กดบริเวณชายโครงขวารู้สึกเจ็บ มักไม่มีอาการไอและน้ำมูกให้สงสัยเป็นไข้เลือดออก หากพบว่ามีอาการดังกล่าวให้พบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือผู้สูงอายุ จะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากจะต้องดูทั้งผลที่เกิดจากโรคไข้เลือดออกและโรคประจำตัว และต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดและทันทีที่มีอาการ นอกจากนี้ยังมีวิธีการกำจัดยุงลายที่ประชาชนทุกครัวเรือนสามารถทำได้ คือ 1. การใช้ผงซักฟอกโรยลงในภาชนะ หรือวัสดุที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์ ฯลฯ ให้ผงซักฟอกกระจายปกคลุมทั่วผิวน้ำ เมื่อลูกน้ำ หรือตัวโม่งของยุงลายจะขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ มันก็จะดูดซับเอาสารเข้าไปในระบบหายใจด้วย ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจจนตายในที่สุด 2.ใช้น้ำยาล้างจานโฉบจับยุง โดยบีบน้ำยาล้างจานทาให้ทั่วพื้นจานพลาสติก เมื่อยุงบินมาใกล้ๆ ก็ใช้จานตะปบ และ3. การใช้น้ำยาล้างจาน/แชมพู/สบู่เหลวฉีดพ่นยุง ด้วยวิธีนำน้ำยาล้างจาน หรือแชมพู หรือสบู่เหลว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 1 ลิตร ตวงใส่กระบอกฉีดพรมผ้า นำไปฉีดกลุ่มยุงลายที่เกาะอยู่ตามบริเวณต่างๆ ตามมุมบ้าน ผนังห้องน้ำ หรือในภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะสามารถกำจัดยุงลายในบ้านได้อย่างดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ