ฟิทช์: กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงแข็งแกร่งกว่าช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย แม้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 1, 2015 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของบริษัทฯ ที่ จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ ว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียและธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าช่วงก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชียปี 2540 แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในงานสัมมนาดังกล่าว ฟิทช์ได้รับเกียรติจากคุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้กล่าวเปิดงานสัมมนา นายแอนดรูว์ คูลฮูน หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของฟิทช์ ได้ให้ความเห็นว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นจากสภาพเศรษฐกิจโลก ฐานะทางการเงินของประเทศไทยและภาระหนี้สินต่างประเทศโดยรวม ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชียปี 2540 แม้ว่าความเสี่ยงในด้านอื่นได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ปริมาณการค้าระหว่างประเทศของโลกฟื้นตัวขึ้นในระดับที่ช้ากว่ามาก เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตในอดีตในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของประเทศไทยและเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่โดยรวมเติบโตในระดับที่ต่ำ นอกจากนี้ระดับหนี้สินของภาคเอกชนที่สูงในหลายประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทย เป็นปัจจัยที่ถ่วงการเติบโตของอุปสงค์ภายในประเทศ อีกทั้งบรรยากาศการลงทุนในตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้ปรับตัวแย่ลง เนื่องจากธนาคารกลางของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ฟิทช์คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ 'BBB+' และ 'A-' ตามลำดับ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 โดยสะท้อนถึงการที่ประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งในด้านภาระหนี้สินต่างประเทศ รวมถึงนโยบายการคลังและนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงทรงตัวอยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตามฟิทช์ก็มองว่าความเสี่ยงในด้านอื่นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากระดับหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาวะการลงทุนที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมือง นายแอมบรีช ศรีวาสตา หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฟิทช์ กล่าวว่าความเสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากการปรับตัวลดลงอย่างมากของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ค่าเงินที่ปรับตัวอ่อนลง ผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง การปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สินภาคครัวเรือนและความเสี่ยงของผลกระทบจากความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนที่สะสมเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ได้มีการเสริมสร้างความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระดับปรกติได้ ซึ่งสะท้อนได้จากแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของธนาคาร สำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยก็เช่นกัน แม้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่สมเหตุสมผลในด้านของระดับเงินสำรองหนี้สูญและเงินกองทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของธนาคาร แม้ว่าภาพรวมของภาวะอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มเป็นลบ นายอเดล เมียร์ ผู้จัดการกลุ่มสถาบันการเงินภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ หรือ International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นผู้ร่วมบรรยายในงานสัมนาของฟิทช์ในครั้งนี้ กล่าวถึงการสนับสนุนของ IFC ในการช่วยเหลือพัฒนาระบบสถาบันการเงินแก่กลุ่มเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขง (ประเทศกัมพูชา ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย) และให้ความสนใจเพิ่มขึ้นกับเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มพัฒนา เช่น ประเทศพม่าและลาว ต่อจากนั้นในเวทีเสวนามีการอภิปรายประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศที่เริ่มพัฒนาในแถบอินโดจีน โดยมีคุณวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินการเสวนาในประเด็นความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ คุณซาร่า แคนน์นิง-โจนส์ ที่ปรึกษา บริษัท อัลเลนแอนด์โอเวอรี่ (ประเทศไทย) คุณชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และคุณ บรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด งานสัมมนาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานของรัฐ นักลงทุน และผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจและการเงิน เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ