สธ.สร้างแนวร่วมในการส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่

ข่าวทั่วไป Tuesday February 17, 1998 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--17 ก.พ.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุขจัดอบรมบุคลากรเพื่อเป็นวิทยากรและเป็นแนวร่วมในการส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่
นายคำรณ ณ ลำพูน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดอบรมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อเป็นวิทยากรส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ รุ่นที่ 9 ว่าบุหรี่เป็นยาเสพติดที่มีผู้ติดมากที่สุดในโลก ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดบุหรี่ประมาณ 1,100 ล้านคน นับเป็นยาเสพติดที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพมากที่สุดเนื่องจากเป็นยาเสพติดเพียงอย่างเดียวที่ถูกกฎหมาย
ธนาคารโลก องค์การอนามัยโลกและมหาวิทยาลัยฮาวาร์ค ได้สรุปประเมินว่า ปัจจุบันโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในระดับโลก คือโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร โรคเอดส์ และโรคจากการสูบบุหรี่ แต่อีก 20ปีข้างหน้าภาวะสูญเสียจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร และโรคเอดส์จะลดความรุนแรงลงแต่โรคจากการสูบบุหรี่จะทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 75ส่งผลกระทบโดยรวมต่อทรัพยากรมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาในอันที่จะต้องเสียทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร สูญเสียทางเศรษฐกิจที่ต้องซื้อบุหรี่มาสูบ รวมทั้งเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่
สำหรับประเทศไทย จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2539 พบมีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 11.3 ล้านคน ร้อยละ 92 อยู่ในภูมิภาค อัตราการสูบบุหรี่สูงอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการขนส่ง คมนาคม เกษตรกร และ ผุ้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษาน้อยและอยู่ในชนบท ดังนั้นการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทยจำเป็นต้องกระจายสู่ภูมิภาคให้มากที่สุด โดยอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ มีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นได้ ซึ่งสถาบันควบคุมการบริโภคยาสูบได้จัดอบรมในการเสริมทักษะแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นประจำทุกปี ๆ ละรุ่น เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีความรู้เรื่องโทษ พิษ-ภัย ของบุหรี่ มีทักษะและศิลปะในการชักจูงให้ประชาชน ละ ลด เลิกสูบบุหรี่ ร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมปลอดบุหรี่
สำหรับในปีนี้เป็นรุ่นที่ 9 มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 40 คน เปิดอบรมระหว่าง 18 - 20 กุมภาพันธ์ 2541 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กทม. โดยให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายและทิศทางการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทษและพิษภัยของบุหรี่ กฏหมายเกี่ยวกับบุหรี่ จิตวิทยาในการสอบ เทคนิคการจูงใจ มนุษยสัมพันธ์ เป็นต้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ