ผลงาน มธ. โดดเด่นบนเวทีนานาชาติอีกครั้ง คว้ารางวัลสูงสุดระดับแพลทตินัม พร้อมด้วยเหรียญเงิน ทองแดง และสเปเชียลไพรซ์ ในงานประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติที่ประเทศไต้หวัน

ข่าวทั่วไป Monday October 19, 2015 13:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ · "เครื่องวัดและกระตุ้นการหายใจในทารกและเด็กเล็ก" (Baby Breath Safe: BBS) คว้ารางวัลแพลทตินัม รางวัลระดับสูงสุดของเวที INST 2015 คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โชว์ศักยภาพในเวทีระดับโลก คว้า 5 รางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ จากเวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ "The Taipei International Invention Show & Technomart: INST 2015" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2558 ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ตอกย้ำศักยภาพความพร้อมของนักวิจัยธรรมศาสตร์ในระดับโลก โดยผลงาน "เครื่องวัดและกระตุ้นการหายใจในทารกและเด็กเล็ก" (Baby Breath Safe: BBS) คิดค้นและพัฒนาโดย อ.สุภาวดี ทับกล่ำ คณะพยาบาลศาสตร์ ได้รับรางวัลแพลทตินัมซึ่งถือเป็นรางวัลระดับสูงสุดของเวที INST โดยถือเป็นนักวิจัยไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ จากทั้งหมด 39 ผลงานที่ประเทศไทยส่งเข้าประกวด ขณะเดียวกันผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อีก 4 ชิ้น โดยคณะนักประดิษฐ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ "เตาเอนกประสงค์" "หม้อนึ่งอาหารด้วยไอน้ำประหยัดพลังงาน" "เมี่ยงคำอบกรอบปรุงรส" และ "เครื่องดำนามือหมุน" ต่างก็ได้รับรางวัลร่วมเป็นหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงของประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า การประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ "The Taipei International Invention Show & Technomart: INST 2015" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2558 ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ในปีนี้ประเทศไทยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 39 ผลงานจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เพราะสามารถคว้ารางวัลได้ครบทั้ง 5 ชิ้นงานที่ส่งเข้าประกวด จึงถือเป็นการตอกย้ำศักยภาพความพร้อมด้านบุคลากรและองค์ความรู้ของประเทศไทย ในการก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอาเซียนในอนาคต โดยผลความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งส่งเสริมนโยบายหลัก 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมด้านการวิจัย ความเป็นนานาชาติ และการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวทีระดับโลกและระดับประเทศปีละกว่า 100 รางวัล อีกทั้งมีผลงานที่ได้รับการยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้นถึง 100% และยังถือเป็นมหาวิทยาลัยไทยที่ได้รับรางวัลมากที่สุด จากการส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศไต้หวัน สำหรับผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมส่งเข้าประกวดและจัดแสดงนิทรรศการโชว์ผลงาน ซึ่งได้รับรางวัลทุกชิ้นงานในเวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ "The Taipei International Invention Show & Technomart: INST 2015" ประกอบไปด้วย 1. รางวัลแพลทตินัม (Platinum Award) ได้แก่ ผลงาน "เครื่องวัดและกระตุ้นการหายใจในทารกและเด็กเล็ก" (Baby Breath Safe: BBS) คิดค้นและพัฒนาโดย อ.สุภาวดี ทับกล่ำ คณะพยาบาลศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับวัดอัตราการหายใจของทารก ทั้งในภาวะที่มีสุขภาพดีหรือในภาวะเจ็บป่วย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและลดภาวะเสี่ยงการเสียชีวิตในทารกและเด็กเล็ก โดยการทำงานของเครื่อง BBS จะตรวจวัดอัตราการหายใจ โดยแสดงผลการตรวจวัดแบบ real-time ในรูปแบบกราฟผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารเคลื่อนที่ทั้งในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ในกรณีที่เครื่องตรวจพบว่ามีการหยุดหายใจภายในระยะเวลาที่ตั้งโปรแกรมไว้ ตัวเครื่องจะทำการส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์กระตุ้นการหายใจ เพื่อให้ทารถกลับมาหายใจอีกครั้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งรูปแบบการทำงานของเครื่อง BBS นอกจากจะสามารถตั้งโปรแกรมให้ทำงานโดยอัตโนมัติ ยังสามารถตั้งค่าควบคุมได้จากคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตได้อีกด้วย ทั้งนี้ นอกจากเครื่อง BBS จะได้รับรางวัลแพลตินัม (Platinum Award) รางวัลสูงสุดของงานนี้ โดยถือเป็นนักวิจัยไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลแพลตินัม จากทั้งหมด 39 ผลงานที่ประเทศไทยส่งเข้าประกวด นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Special Award From Taiwan Invention Association และรางวัล Special Award from Associazione Nazionale Deglilnventori จากประเทศอิตาลีด้วย 2. รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) ได้แก่ ผลงาน "เตาเอนกประสงค์" คิดค้นและพัฒนาโดยโครงการ Move World Together : เคลื่อนโลกไปด้วยกัน โดยผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะนักเรียนโรงเรียนปลาบากวิทยา อ.ปลาบาก จ.นครพนม เตาอเนกประสงค์มีคุณสมบัติในการใช้งานได้หลากหลาย อาทิ ทอด ต้ม นึ่ง-ตุ๋น อาหาร ในเวลาเดียวกัน โดยใช้ความร้อนและไอน้ำ ที่เกิดจากแหล่งพลังงานเดียวกัน นอกจากนี้ทั้งความร้อนและไอน้ำยังถูกนำมาหมุนเวียนในระบบทำให้ประหยัดไฟฟ้าและค่าใช้จ่าย 3. รางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) ได้แก่ ผลงาน "หม้อนึ่งอาหารด้วยไอน้ำประหยัดพลังงาน คิดค้นและพัฒนาโดย รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยนักเรียนและครู ร.ร. ภปร ราช วิทยาลัย อ.สามพราน จ.นครปฐม แนวคิดเกิดจากการที่คณะเห็นว่าทหารกองประจำการของประเทศไทยกว่าร้อยละ 60 มาจากเหนือและอีสาน ซึ่งปกติบริโภคข้าวเหนียว เมื่อทหารเหล่านั้นปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม ไม่สามารถหุงข้าวเหนียวรับประทานได้ด้วยหม้อสนาม ปกติหุงได้แต่เฉพาะข้าวเจ้า หากยังไม่ชำนาญในการหุงข้าวจะไหม้ติดหม้อสนาม โครงงานนี้ได้มุ่งปรับปรุงให้หม้อสนามสามารถหุงข้าวเหนียว อีกทั้งประหยัดพลังงานและเวลาในการหุง สะดวกต่อการพกพา สามารถนึ่งข้าวเหนียวได้ใช้เวลาเพียง 15 นาทีโดยไม่ต้องแช่ข้าวเหนียวก่อน ประหยัดเวลา และพลังงาน 4. รางวัลพิเศษ Special Prize จาก International Intellectual Property Network Forum: IIPNF มีจำนวน 2 ผลงานดังนี้ · ผลงาน "การพัฒนาผลิตภัณฑ์เมี่ยงคำอบกรอบปรุงรส" คิดค้นและพัฒนาโดย อาจารย์ ดร.สุธีรา วัฒนกุล และอาจารย์ ดร.เปี่ยมสุข สุวรรณกูฎ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกิดจากแนวคิดว่าเมี่ยงคำเป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งของไทยที่มีคุณค่าทางสมุนไพรสูง เพราะมีคุณสมบัติในการบำรุงรักษาธาตุทั้ง 4 เพื่อให้สมดุลกัน แต่เนื่องจากการที่มีเครื่องเคียงจำนวนมากอีกทั้งการรับประทานก็ค่อนข้างยุ่งยาก จึงไม่เหมาะกับการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในปัจจุบัน ที่มีความเร่งรีบและต้องการความสะดวกสบายจึงทำให้การรับประทาน ดังนั้นเมี่ยงคำจึงได้รับความนิยมน้อยลง คณะผู้วิจัยจึงพัฒนาเมี่ยงคำแผ่นอบกรอบปรุงรส ให้พกพาสะดวกสามารถรับประทานได้ทุกที่ทุกเวลาและเหมาะกับทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ทำให้เมี่ยงคำเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล · ผลงาน "เครื่องดำนามือหมุน" คิดค้นและพัฒนาโดยโครงการ Move World Together : เคลื่อนโลกไปด้วยกัน โดยผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคณะนักเรียนโรงเรียนปลาบากวิทยา อ.ปลาบาก จ.นครพนม เครื่องดำนามือหมุนเกิดจากแนวคิดความต้องการประดิษฐ์และออกแบบ ให้สอดคล้องกับต้นกล้าและวิธีการดำนาแบบดั้งเดิมของชาวไทย มีวิธีการทำงานโดยใช้พลังงานจากมือหมุนเพิ่มประสิทธิภาพการดำนาโดยไม่ใช้เชื้อเพลิงใดๆ และใช้ต้นกล้าจากการถอนแบบเดิมของชาวนาไทย ลดขั้นตอนการจัดเรียงกล้าลงเครื่อง และขั้นตอนการเพาะกล้าลงกระบะปลูก โดยสามารถดำนาได้สี่แถวพร้อมกัน มีน้ำหนักเบา และกลไกที่ไม่ซับซ้อน ง่ายต่อการซ่อมแซม บำรุงรักษา ทำงานสะดวกรวดเร็ว (ผลงานเครื่องดำนามือหมุน ได้รับรวม 3 รางวัลพิเศษ ได้แก่ Honorable Mention จาก INST2015 รางวัลพิเศษ TIIIA Outstanding Diploma, Award for the Excellent Invention จาก Taiwan Invention and Innovation Industry Association (TIIA) แลรางวัลพิเศษ Leading Innovation Award จาก International Intellectual Property Network Forum:IIPNF มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ผ่านการปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.. มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง" สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-613-3030

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ