สศก. ร่วมเวที CFS ครั้งที่ 42 เดินหน้าความมั่นคงอาหารโลก ณ กรุงโรม อิตาลี

ข่าวทั่วไป Wednesday October 28, 2015 12:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเวทีคณะกรรมการความมั่นคงอาหารของโลก หรือ CFS ครั้งที่ 42 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี หารือร่วมทรัพยากรน้ำเพื่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ พร้อมชูถ้อยแถลงถึงนโยบายของไทยเพื่อร่วมผลักดันการดำเนินงาน เสริมสร้างขีดความสามารถ สู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืน นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารของโลก หรือ CFS (Committee on Food Security) ครั้งที่ 42 ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 12 - 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับรายงานการศึกษาของคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูง (High-Level Panel of Experts: HLPE) เรื่องทรัพยากรน้ำเพื่อความมั่นคงอาหารและโภชนาการ โดยเฉพาะในบริบทของความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ ที่ดิน คุณภาพดิน พลังงาน และอาหาร รายงานฉบับดังกล่าว ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและระบบนิเวศ ความสำคัญของน้ำในการสร้างความมั่นคงอาหารและโภชนาการสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต โดยร่วมกันพิจารณา ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว พร้อมนี้ ยังได้มีการรับรองกรอบการดำเนินงานด้านวิกฤติการณ์ความมั่นคงอาหารและโภชนาการที่ยืดเยื้อ กรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงอาหารและโภชนาการระดับโลก และผลลัพธ์จากการประชุมหารือระดับสูงเรื่องการสร้างความเชื่อมโยงเกษตรกรรายย่อยในการเข้าถึงตลาด ตลอดจนร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินงานของ CFS สำหรับปี 2559-2560 อีกด้วย โอกาสเดียวกันนี้ เลขาธิการ สศก. ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมถึงนโยบายของประเทศไทยที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการความมั่นคงอาหารฯ ในหลายประเด็น ได้แก่ ประเด็นการพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำร่วมกันของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยยกตัวอย่างของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการการทำเกษตรอย่างยื่งยืน ช่วยลดผลกระทบของความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศและเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในระดับครัวเรือน ประเด็นการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร โดยยกตัวอย่างโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ว่าเป็นระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบหนึ่งที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area – based) ในการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองเพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านการจัดหาปัจจัยการผลิตและการจำหน่ายผลผลิต ตลอดจนสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้ในต้นทุนที่ต่ำลง และเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนในการรับซื้อผลผลิตที่มีราคาดีแก่เกษตรกร ประเด็นนโยบายเกษตรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับเกษตรกรรายย่อย ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ จัดฝึกอบรม และเผยแพร่ข้อมูลการตลาดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถปรับตัวภายใต้สถานการณ์ท้าทายต่างๆ ในปัจจุบัน และ ประเด็นเกี่ยวกับโครงการตลาดเกษตรกรท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรให้กับลูกค้าโดยตรง เป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรรายย่อยในการเข้าถึงตลาด ขณะที่ผู้บริโภคก็สามารถเข้าถึงสินค้าที่สดใหม่และมีคุณภาพได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ การประชุม CFS เป็นเวทีการประชุมของ FAO ที่เกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหารของโลก เพื่อขจัดความยากจนหิวโหยของประชากรโลก จะมีการประชุมเป็นประจำทุกปีที่กรุงโรม ซึ่งหลักการในการดำเนินงานและข้อเสนอแนะจากการประชุม ถือเป็นประเด็นชี้นำหรือทิศทางที่เวทีระดับโลกให้ความสำคัญที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้ในการวางแผน ยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหารและที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ