ภาคปศุสัตว์ มอง TPP กระทบภาคเกษตรกรไทย ต้องศึกษารอบคอบ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 28, 2015 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุ TPP จะส่งผลกระทบกับภาคเกษตร-ปศุสัตว์ของไทย หวั่นซ้ำรอยเกษตรกรเวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ที่ถูกหมูสหรัฐราคาถูกเข้าตีตลาดจนขาดทุนถ้วนหน้า มองหลังเข้า AEC ควรเดินหน้า ASEAN+6 เพราะตลาดจีน-ญี่ปุ่นเป็นโอกาสสินค้าเกษตรไทย ด้านสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อและสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ห่วงสหรัฐอาจดันเนื้อไก่และชิ้นส่วนราคาถูกเข้ามาทำตลาดในไทย นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า การบรรลุความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี (TPP) ของ 12 ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกที่เป็นที่สนใจในขณะนี้ และหลายฝ่ายมองว่าไทยอาจตกขบวนหากไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม TPP นั้น เรื่องนี้ควรศึกษาอย่างรอบคอบ เนื่องจากข้อตกลมีรายละเอียดค่อนข้างมากและครอบคลุมหลายประเด็นทั้งด้านการค้า การลงทุน รวมถึงสินค้าและบริการ อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม โทรคมนาคม การเงิน และประกันภัย ซึ่งขณะนี้ประเทศในกลุ่ม TPP ก็ยังต้องต้องรอให้สภาคองเกรสอนุมัติจึงจะมีผลบังคับใช้ คาดว่าอยู่ในช่วงปี 2559-2560 เท่ากับไทยยังมีเวลาศึกษาอีก 2 ปี ถึงข้อดีข้อเสียของข้อตกลง นายสุรชัย กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการที่ไทยจะตกลงเข้าร่วม TPP หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องศึกษาอย่างละเอียดไม่ควรผลีผลาม เพราะหากรีบร้อนเกินไปไทยอาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดเสรีสินค้าเกษตร ทำให้แต่ละประเทศสามารถส่งออกหรือนำเข้าสินค้าเกษตรได้อย่างเสรี โดยเป็นห่วงว่าสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้ผลิตหมูรายใหญ่ของโลก ซึ่งก่อนนี้มีความพยายามในการส่งเนื้อหมูและเศษเหลือจากการบริโภคของชาวอเมริกัน อย่างเช่นเครื่องใน หัว ขา ที่มีราคาถูก เข้ามาทำตลาดในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย "เราเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชามาแล้ว โดยเฉพาะเวียดนามที่เมื่อปี 2556 เกษตรกรจำนวนมากต้องล้มละลาย จากการเปิดนำเข้าหมูส่วนเกินจากสหรัฐมาขายในราคาต่ำ ทำให้เกษตรกรในประเทศไม่สามารถสู้ราคาได้ จนถึงกับต้องเลิกกิจการไป ซึ่งเราไม่อยากให้เกษตรกรไทยต้องซ้ำรอยเกษตรกรประเทศเพื่อนบ้าน และไม่อยากให้หมูสหรัฐที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเสรีเข้ามาขายปะปนกับหมูไทยที่ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทยได้" นายสุรชัย กล่าว นอกจากนี้ มองว่าหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ภายในสิ้นปี 2558 นี้แล้ว ไทยควรเดินหน้า ASEAN+6 หรือRCEP ซึ่งการรวมกลุ่มกันของ 16 ประเทศ ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับอีก 6 ประเทศ คือ จีน,ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งจำนวนประชากรในกลุ่มนี้มีมากกว่า 3,500 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP ถึง 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน GDP มากกว่า 29% ของโลก การรวมกลุ่มASEAN+6 จึงถือเป็นอนาคตของไทยและประเทศในภูมิภาคที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มในการลงทุน การทำการค้า ฯลฯ ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆได้ ขณะเดียวกัน ประชากรในกลุ่ม ASEAN+6 ก็ยังมีความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นโอกาสขอไทยที่เป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้เป็นแนวหน้าในภูมิภาคอยู่แล้ว ด้าน นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ กล่าวว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร เนื่องจากสหรัฐซึ่งเป็นสมาชิกลุ่ม TPP และถือเป็นผู้ผลิตเนื้อไก่เป็นอันดับหนึ่งของโลก จะผลักดันเนื้อไก่ที่เป็นส่วนเกินจากการบริโภคซึ่งมีราคาถูกเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ที่สำคัญสหรัฐฯยังมีต้นทุนการเลี้ยงไก่ที่ต่ำกว่าไทย เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาถูก "ไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้อเป็นอันดับ 9 ของโลก การผลิตเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ นอกจากจะไม่จำเป็นต้องนำเข้าเนื้อไก่แล้ว ไทยยังสามารถส่งออกสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศเป็นอันดับ 4 ของโลก หากไทยเข้าร่วมกลุ่ม TPP เชื่อว่าสินค้าไก่ของสหรัฐฯจะทะลักเข้ามาในไทย ทำให้สินค้าล้นตลาด เกษตรกรก็ต้องขาดทุน และสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยทั้งระบบ จึงขอฝากภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ" นายวีระพงษ์ กล่าว นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา อียู ในแต่ละปีมีการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มากกว่า 600,000 ตัน โดยมีตลาดหลักคือ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น คิดเป็น 80-90% ของการส่งออกเนื้อไก่ทั้งประเทศ โดยในปี 2558 นี้ คาดว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ได้ประมาณ 650,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 85,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 ตลาดเกาหลีใต้จะอนุญาตให้ไทยส่งออกไก่สดไปได้ ซึ่งจะช่วยให้ไทยส่งไก่สดเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันส่งได้เฉพาะไก่ปรุงสุกปริมาณ 15,000 ตันต่อปี หากเกาหลีใต้เปิดตลาดอย่างเต็มที่คาดว่าไทยจะสามารถส่งออกไก่ไปได้มากกว่า 40,000 ตันต่อปี "สำหรับสินค้าไก่ หากไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP จะมีผลกระทบต่ออุตสากรรมไก่ของไทย เพราะสหรัฐฯเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไก่รายใหญ่ของโลก มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าไทย จากวัตถุดิบทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองที่มีราคาถูก หากสหรัฐฯส่งสินค้าเนื้อไก่ที่ไม่เป็นที่นิยมบริโภคราคาถูกเข้ามาขายดั๊มตลาดในประเทศไทย ก็จะกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างข้าวโพดและถั่วเหลืองด้วย" นายคึกฤทธิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ