รมว.ทส. มีกำหนดการลงนามการจัดทำความร่วมมือทวิภาคี Joint Crediting Mechanism (JCM) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

ข่าวทั่วไป Wednesday November 11, 2015 10:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกำหนดการเข้าร่วมพิธีลงนามการจัดทำความร่วมมือทวิภาคี Joint Crediting Mechanism (JCM) ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศญี่ปุ่น โดยผู้ลงนามร่วมฝ่ายญี่ปุ่น ได้แก่ H.E. Minister Tamayo Marukawa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา ณ กระทรวงสิ่งแวดล้อม แห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of the Environment, Japan (MOEJ) ) กลไก JCM พัฒนาขึ้นโดยประเทศญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยมีการประเมินอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนต่อการลดการปล่อยหรือการดูดซับก๊าซเรือนกระจกโดยประเทศพัฒนาแล้วในเชิงปริมาณ ผ่านทางการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา และใช้ปริมาณการลดการปล่อยหรือการดูดซับเหล่านั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนต่อวัตถุประสงค์สูงสุดของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยเร่งการดำเนินงานลดการปล่อยหรือการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของโลก ภายใต้ความร่วมมือทวิภาคี กลไกเครดิตร่วม Joint Crediting Mechanism (JCM) นี้ประเทศญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนความรู้ทางด้านเทคนิคและ/หรืองบประมาณบางส่วน ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของมูลค่าโครงการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยโครงการที่ประเทศญี่ปุ่นให้การสนับสนุนในปี ๒๕๕๘ มีจำนวนทั้งสิ้น ๔ โครงการได้แก่ ๑. โครงการลดก๊าซเรือนกระจกในโรงงานทอผ้า โดยใช้เครื่องทอผ้าประหยัดพลังงาน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ ๖๔๖ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ๒. โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาโรงงาน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ ๗๙๘ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ๓. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศและตู้แช่เย็นในร้านสะดวกซื้อ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ ๖,๐๐๐ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ ๔. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในโรงงานผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ ๗๗๒ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ รวม ๘,๒๐๐ ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เงินลงทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้สนับสนุนภาคเอกชนไทย ประมาณ ๔๓๕ ล้านบาท จากมูลค่าโครงการทั้งหมด ๑,๑๕๖ ล้านบาทที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ภายหลังจากการลงนามจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ฝ่ายไทย ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการร่วม และจัดตั้งสำนักเลขาธิการกลไก Joint Crediting Mechanism (Thailand JCM Secretariat) ขึ้นในประเทศไทย โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการกลไก JCM เพื่อดำเนินงานดังกล่าวต่อไป ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ๒๕๕๘ มีประเทศกำลังพัฒนาลงนามความร่วมมือในกลไกนี้แล้วทั้งสิ้น ๑๕ ประเทศ ได้แก่ มองโกเลีย บังคลาเทศ เอธิโอเปีย เคนยา มัลดีฟส์ เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย คอสตาริกา ปาเลา กัมพูชา เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย ชิลี และพม่า โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศลำดับที่ ๑๖ ที่จะลงนามการจัดทำความร่วมมือทวิภาคี Joint Crediting Mechanism (JCM) ในครั้งนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ