อาจารย์ มทร.ธัญบุรี สร้างชื่อในเวทีนานาชาติ คว้า 5 รางวัล ผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ IWIS 2015

ข่าวทั่วไป Thursday November 12, 2015 09:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี กล่าวว่า ในการจัดแสดงนิทรรศการและการประกวดผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ International Warsaw Invention Show (IWIS 2015) ที่จัดขึ้น ณ สาธารณรัฐโปแลนด์ ปรากฏว่ามีอาจารย์ไทยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่เข้าร่วมประกวดการแสดงนิทรรศการและการประกวดผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ ได้รับรางวัลทั้งหมด 5 รางวัล จาก 2 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง"การจัดทำเครื่องช่วยเรียนรู้อักษรเบรลล์หลายภาษาแก่นักเรียนผู้บกพร่องทางการมองเห็น" (Multi-Languages Braille Learning Machine) ของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรินทร์ ปัทมวรคุณ และนายจตุรพิธ เกราะแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเหรียญรางวัล The Platinum Medal (IWIS 2015) รางวัล Special AwardThe Best Foreign Invention และรางวัล Special Prize จาก Universiti Malaysia Perlis และผลงานวิจัยเรื่อง "นิทานสัตว์พร้อมแสง-เสียง-สัมผัส สำหรับนักเรียนผู้บกพร่องทางการมองเห็น" (Animals' Tales with Light-Sound-Touching Edutainment for Visually Impaired Children) ของนายไกรมน มณีศิลป์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับเหรียญรางวัล Bronze Medal (IWIS 2015) และรางวัล The Best Invention in Design จากสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศญี่ปุ่น การเข้าร่วมแสดงนิทรรศการและการประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ในครั้งนี้ ทำให้คณาจารย์ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ เพิ่มพูนประสบการณ์วิชาชีพ เพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนางานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป รองศาสตราจารย์ ดร.สุวรินทร์ ปัทมวรคุณ อาจารย์เจ้าของนวัตกรรม เล่าว่า เราสร้างสรรค์นวัตกรรมตามองค์ความรู้ที่มีอยู่ ความเชี่ยวชาญ และเทรนด์ของสังคมโลก ที่ให้ความสนใจและใส่ใจในเรื่องราวเกี่ยวกับผู้พิการ โดยนำเรื่องราวของเทคโนโลยีมาจับก่อเกิดเป็นผลงานวิจัย ซึ่งมีโจทย์สำคัญคือ การทำอย่างไรเพื่อช่วยพัฒนาหรือเสริมศักยภาพของผู้พิการในการฟังพูดอ่านเขียน การใช้ชีวิตประจำวัน เสริมสร้างคุณค่าให้กับผู้พิการ จนนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การเข้าร่วมในครั้งนี้ นับว่าเป็นการสั่งสมประสบการณ์ที่ดีในระดับนานาชาติ และขอขอบคุณมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ โดยศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ที่ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ขณะที่อาจารย์ไกรมน มณีศิลป์ เผยว่า การเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ ได้เห็นมุมมองหรือความคิดเห็นใหม่ ๆ ที่มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น ได้รับฟังข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์จากคณะกรรมการ เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะได้ตอบโจทย์ในเรื่องความเป็นสากล หรือนำมาต่อยอดในการคิดค้นนวัตกรรมชิ้นอื่นต่อไป และยังนำแนวคิดไอเดียต่าง ๆ มาประยุกต์ในการเรียนการสอนกับนักศึกษาได้อีกด้วย และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์และในระดับสากลต่อไป โดย : อลงกรณ์ รัตตะเวทิน นักประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ