ฟื้นฟูเด็กพิการด้วย “สวนบำบัด”

ข่าวทั่วไป Tuesday November 17, 2015 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ตีฆ้องร้องป่าว ด้วยข้อจำกัดที่เป็นมาแต่กำเนิด ไม่ว่าด้านร่างกายและสติปัญญา ทำให้เด็กพิการไม่สามารถสัมผัสธรรมชาติและโลกกว้างได้อย่างที่เขาต้องการ ทำให้มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติ ดังนั้นเพื่อการเรียนรู้ของเด็กพิการที่เหมาะสม จึงต้องใช้กระบวนการที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับความบกพร่องทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ กระบวนการหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในต่างประเทศและกำลังถูกนำมาปรับใช้ในเมืองไทยอยู่ในขณะนี้ คือ "สวนบำบัด" มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดทำโครงการสวนบำบัด เพื่อพัฒนาหลักสูตรสวนบำบัดสำหรับเด็กพิการ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านเด็กและด้านสุขภาพโดยสวนบำบัดให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยได้นำต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น และมีวิทยากรจาก มูลนิธิเอ็มโอเอไทย (MOA Thai Foundation) มาร่วมจัดสร้างหลักสูตรในครั้งนี้ พร้อมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ "มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการดำเนินชีวิตก็ต้องคล้อยตามหรือเคารพธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วธรรมชาติก็จะช่วยเยียวยามนุษย์ด้วยเช่นกัน" สุชาญ ศีลอำนวย กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิเอ็มโอเอไทย กล่าวถึงปรัชญาของสวนบำบัด แนวคิดและหลักการ คือพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายและจิตใจได้เข้าใกล้ธรรมชาติมากที่สุด และหากสามารถนำเอาธรรมชาติไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ก็จะทำให้สุขภาพผู้นั้นดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ "เราจึงเน้นให้ผู้พิการได้สัมผัสกับดิน สังเกตได้ว่าเวลาที่เราสัมผัสกับดิน อยู่กับธรรมชาติเราจะรู้สึกสงบลง เพราะมีจุลินทรีย์บางชนิดที่อยู่ในดินช่วยกระตุ้นระบบประสาท ร่างกายจะปลดปล่อยสารตัวหนึ่งออกมา ทำให้เรารู้สึกสงบมีความสุขนั่นเอง" สุชาญ ให้เหตุผลและว่าการเยียวยาด้วยวิธีธรรมชาติ คือให้ผู้พิการได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ถ้ามีการใช้งานบ่อยๆ จะเป็นการกระตุ้นสุขภาวะของผู้พิการให้ฟื้นคืนได้ สวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับผู้พิการแต่ละคน โดยเน้นกระบวนการตั้งแต่ 1-10 ซึ่งไม่ได้เน้นทำให้สำเร็จ เด็กพิการบางคนอาจจะทำได้แค่ระดับ 1-3 เท่านั้นแต่ที่สำคัญคือทุกกระบวนการจะเน้นให้เด็กพิการได้ลงมือปฎิบัติด้วยตนเอง ซึ่งพี่เลี้ยงต้องปรับเนื้อหากิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้พิการแต่ละประเภท จากนั้นจึงค่อยพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกายของผู้พิการรายนั้นๆ วารี วันโนนาม แม่ของน้องนุ่นวัย 7 ขวบ ซึ่งมีปัญหาด้านการสั่งงานสมองกับกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน เล่าว่า น้องนุ่นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเพราะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ทำอะไรสะเปะสะปะไปหมด เมื่อมาเข้ารับการอบรมหลักสูตรนี้แล้ว มีกิจกรรมต่างๆ ให้คุณแม่และน้องนุ่นได้ทำตาม อย่างเช่นการปลูกผักที่ช่วยให้น้องนุ่นมีสมาธิในการตั้งใจทำเป็นอย่างมาก ได้ใช้มือหยิบจับด้วยตัวเองซึ่งคุณแม่เองก็ต้องช่วยประคองมือน้องนุ่นให้ทำกิจกรรมได้อย่างราบรื่น "เมื่อก่อนน้องนุ่นเป็นคนรักสะอาดไม่กล้าจับดิน แต่ตอนนี้มีความกล้ามากขึ้น เพราะเขารู้สึกผ่อนคลาย เรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน สนุกกับการเล่น ไม่น่าเบื่อ อย่างน้อยเราให้น้องนุ่นได้มีส่วนร่วมในหนึ่งขั้นตอนก็ยังดี เห็นได้ชัดเลยว่าน้องนุ่นมีความสุขอย่างต่อเนื่อง มีรอยยิ้ม และมีพัฒนาการที่ดีอย่างต่อเนื่อง" แม่น้องนุ่น บอกความรู้สึก สำหรับแนวคิดเรื่องสวนบำบัดในประเทศไทยนั้น ยังไม่เคยมีหน่วยงานไหนจัดทำเป็นหลักสูตรมาก่อน แต่เคยมีการนำมาใช้บ้าง เช่นที่สถาบันธัญญารักษ์ใช้กับผู้ป่วยทางจิตเท่านั้น และยังมีอีกหลายๆ ที่ แต่ถือว่าไม่มีหลักสูตรตายตัว ใครคิดทำก็ทำเฉพาะกลุ่มตัวเอง ไม่มีทฤษฎีสวนบำบัดโดยตรง ในส่วนมูลนิธิเพื่อเด็กพิการที่นำมาใช้เป็นองค์กรล่าสุดนี้ ได้รวบรวมองค์ความรู้และถอดบทเรียนทั้งจากต่างประเทศและในประเทศเพื่อพัฒนาหลักสูตรสวนบำบัดให้กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครอง และบุคลากรที่ทำงานดูแลเด็กพิการเพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อเด็กพิการกล่าวว่า สวนบำบัด สามารถใช้ได้กับหลายกลุ่ม เพราะเด็กพิการมีหลายประเภททั้งหูหนวก ตาบอด ความบกพร่องทางการเรียนรู้ หรือเด็กออทิสติกสามารถนำมาเข้าร่วมกิจกรรมในสวนบำบัดได้ เพราะถ้าฝึกเด็กให้อยู่แต่ในกรอบเดิมๆ เพียงอย่างเดียวเด็กจะเบื่อ แต่ถ้ามาร่วมกิจกรรมในสวนบำบัด ได้ดูต้นไม้ ได้ปลูกต้นไม้ ฝึกศิลปะจากต้นไม้ เด็กก็จะมีสมาธิได้ กิจกรรมภายในสวนบำบัดจะต้องมีหลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับความบกพร่องของเด็กแต่ละคนครบทุกด้าน เช่น เด็กพิการทางสมอง จะมีปัญหาทางกาย คือ การเกร็งของกล้ามเนื้อเราก็ต้องฝึกให้เขาทรงตัว อาจจะฝึกให้ยืน หรือนั่งทำสวนบนรถเข็นก็ได้ "สวนบำบัดไม่ใช่การรักษาให้เด็กหายขาดได้แต่ช่วยให้เขาสามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่มีอยู่ให้ทำงานดีขึ้น เด็กออทิสติกเช่นกันไม่ได้ทำให้หาย แต่ให้เขาได้มีสมาธิให้ดีขึ้น ฝึกการเรียนรู้ได้มากขึ้น บางครั้งแค่เพาะถั่วงอกในขวดแค่นี้ก็ได้ฝึกแล้ว ให้เขาได้หยอดเมล็ดด้วยตัวเองและสังเกตการณ์เจริญเติบโตของถั่วงอกที่เขาปลูก แค่นี้เขาก็ได้เสริมสร้างพัฒนาการแล้ว" นพ.ประพจน์ กล่าว ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว ชุดหลักสุตรความรู้สวนบำบัดเพื่อเด็กพิการและด้อยโอกาสจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้พ่อแม่ผู้ปกครองและบุคคลากรทีทำงานด้านนี้ได้มีแนวทางปฏิบัติในการฟื้นฟูที่ถูกต้อง และมูลนิธิเพื่อเด็กพิการก็เตรียมผลักดันให้ "สวนบำบัด" ถูกบรรจุเข้าเป็นบริการขั้นพื้นฐานของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งโรงพยาบาลและโรงเรียนต้องนำไปใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมกันนี้จะประสาน กทม. เพื่อให้มีการจัดมุมสวนบำบัดในสวนสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วกทม.อีกด้วย
แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ