มหาดไทยร่วมกับสสส. ปั้น 76 จังหวัดเป็นเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี

ข่าวทั่วไป Thursday November 19, 2015 13:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--คิธแอนด์คินฯ กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสสส. จับมือ เปิดโครงการ "เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี" ชูยุทธศาสตร์ 3 ส. สวน เส้นทาง สนาม พัฒนา 76 จังหวัดเป็นเมืองจักรยาน ปลุกกระแสคนไทยใช้จักรยานเป็นวิถีชีวิตประจำวัน ห่างไกลโรคNCDs อาจารย์ ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสสส.จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน ภายใต้โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี คือการร่วมพัฒนายุทธศาสตร์ 3 ส.กับทุกจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1 สวนสาธารณะ 1 เส้นทางสัญจร และ 1 สนามกีฬา หรือ สนามบิน ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ โดย สวนสาธารณะ คือการสร้างทางจักรยานในสวน ซึ่งทุกจังหวัดมีสวนสาธารณะขนาดต่างๆ กระจายอยู่ทั่ว และผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 60 มีความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่จักรยาน ด้านเส้นทางสัญจรภายในเมือง คือการพัฒนาเส้นทางจักรยานบนเส้นทางหลักที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญของเมือง ระบบขนส่งสาธารณะและเส้นทางที่มีผู้ใช้สัญจรเป็นประจำ โดยใช้วิธีปรับแบ่งพื้นผิวจราจร ขีดสีตีเส้น และกำหนดมาตรการดูแลตามกฎหมาย เช่นการจำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบัน ทุกจังหวัดมีแผนเรื่องทางจักรยานแล้ว และสนามกีฬา คือการสนับสนุนให้มีการขี่จักรยานโดยรอบสนามกีฬาหรือ สนามบิน ด้วยการจัดพื้นที่โดยรอบและมีระบบบริหารจัดการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ อาจารย์ ณรงค์ กล่าวว่าในปัจจุบันคนไทยมีการใช้จักรยานทั้งเพื่อการเดินทางในวิถีชีวิต และเพื่อการนันทนาการได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยตลาดจักรยานมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถเติบโตจากมูลค่ารวม 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 5,000 ล้านบาทในปี 2556 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับข้อมูลสถิติของสสส. พบว่ามีผู้มีศักยภาพที่จะใช้จักรยานมากถึง 60 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการรณรงค์ให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาใช้การเดินทางในชีวิตประจำวันด้วยจักรยานมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนการส่งเสริมให้มีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยซึ่งถือเป็นหัวใจของเรื่องนี้ เพราะหากไม่ปลอดภัยก็จะไม่มีผู้ใช้จักรยานจริงเกิดขึ้นในวิถีชีวิต รวมถึงการสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการใช้ถนนร่วมกันในสังคม ทั้งนี้โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ระยะที่ 1 มีจำนวน 17 จังหวัดเข้าร่วม ได้แก่ จังหวัดเชียงรายจังหวัดลำพูน จังหวัดน่าน จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุดรธานีจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดชัยนาท จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดราชบุรี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดกระบี่ จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา อาจารย์ ณรงค์ กล่าวว่า โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้จักรยาน ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ การปั่นจักรยานเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตและการหายใจดีขึ้น ทำให้หัวใจและปอดทำงานได้ดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 6 โรคหลัก ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งพบว่าคนไทยมีความเสี่ยงเกิดโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ พ.ศ. 2553 พบว่าคนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญถึงร้อยละ 71 ของการเสียชีวิต และยังมีแนวโน้มการเป็นโรคเพิ่มมากถึง 3.3 ล้านคนโดยประมาณ 6.3 แสนคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่พบในปี 2554 ด้านสังคม การใช้จักรยานในการเดินทางระยะสั้น หรือประมาณ 1-5 กิโลเมตร จะช่วยคืนความเป็นชุมชนกลับมา โดยการศึกษาในหลายประเทศ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา พบความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างปริมาณการเดินและใช้จักรยานของประชาชนกับความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ-สังคม ความเป็นประชาธิปไตย และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ด้วยการจัดผังเมือง ออกแบบ และพัฒนาเมืองที่ส่งเสริมระบบดังกล่าว ขณะที่การใช้จักรยานเชื่อมโยงกับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะจะช่วยลดการใช้รถยนต์ ลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ พบว่า ค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการเดินทางและยานพาหนะคิดเป็นร้อยละ 19 ดังนั้นหากใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์เพียงสัปดาห์ละ 1 วัน คนไทยจะประหยัดค่าน้ำมันได้เฉลี่ย 5,200 บาท/คัน/ปี นอกจากนั้นยังพบว่า มีผู้ขี่จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวราว 260,000 คน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อคนต่อวัน สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ประมาณ 900 ล้านบาท ด้านสิ่งแวดล้อม การใช้จักรยานระยะสั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราสูงมากจนเป็นอันดับที่ 21 ของโลกในปี 2554 จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมาจากภาคขนส่งมากถึงร้อยละ 27

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ