พม. คืบหน้าการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ พร้อมเชิญชวนผู้มีสิทธิ์ร่วมลงทะเบียนในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

ข่าวทั่วไป Friday November 20, 2015 17:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๒๐ พ.ย. ๕๘) เวลา ๐๘.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปพม.) เป็นประธานการประชุม ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๒๘๗/๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม นายไมตรี กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ภายหลังกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก (กอภ.) โดยมีนายณรงค์คงคำ รองอธิบดี พส. เป็นผู้อำนวยการกองฯ และดำเนินการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนั้นขณะนี้ กอภ. ได้ดำเนินการสำรวจคัดกรองประชากรและรังวัดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ๓,๐๐๐ ไร่ เสร็จเรียบร้อยแล้วตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ภูทับเบิก ๓-๘-๘ ซึ่งจากผลการสำรวจประชากรภูทับเบิก ๔ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทับเบิก บ้านนาสะอุ้ง บ้านทับเบิกใหม่ บ้านดอยน้ำเพียงดิน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๗๘๘ ครัวเรือน แบ่งออกเป็น ชาย ๒,๒๒๗ คนหญิง ๒,๑๓๙ คน รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้น ๔,๓๖๖ คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุ ๐-๔ ปี ๕๔๑ คน คนพิการ ๒๗ คน และผู้สูงอายุ ๑๖๑ คน ซึ่งทั้งหมดนี้ประกอบด้วยคน ๕ กลุ่ม มี ๓ ชนเผ่า ได้แก่ กะเหรี่ยง ถิ่น ม้ง และอีก ๒ กลุ่ม คือไทยภูเขาและไทยพื้นราบ หลังจากนี้ กอภ. จะดำเนินงานตาม Action Plan พร้อมทั้งบูรณาการกับทุกหน่วยงานเพื่อเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะต่อไป นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) รับผิดชอบร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ที่ ฝากครรภ์กับสถานพยาบาล และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่โครงการฯ กำหนด ยื่นลงทะเบียนด้วยตนเองที่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นตามที่อยู่ปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ก.ย. ๒๕๕๘ เป็นต้นมา ขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๙ พ.ย. ๕๘) มีผู้มายื่นลงทะเบียนแล้วทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น ๒๒,๐๙๐ คน แยกเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๔๖๒ คน และต่างจังหวัด๒๑,๖๒๘ คน อย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนผู้มีสิทธิ์ตามเกณฑ์มาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน โทร. ๐๒ ๖๕๑ ๖๕๓๒ ภายในวันและเวลาราชการ และศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร. สายด่วน ๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นายไมตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันที่ ๑๖ – ๒๐ พ.ย. ๕๘ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินการจัดระเบียบขอทานทั่วประเทศ ครั้งที่ ๖ ซึ่งในวันที่ ๑๙ พ.ย.๕๘ เป็นวันที่สี่ของการจัดระเบียบขอทาน พบขอทานจำนวนทั้งสิ้น ๘๕ ราย แบ่งเป็นขอทานคนไทย ๖๒ ราย ขอทานต่างด้าว ๒๓ ราย โดยเป็นชาวกัมพูชา ๒๒ รายและพม่า ๑ ราย ทั้งนี้ จากการจัดระเบียบขอทานทั้งสามวันที่ผ่านมา (วันที่ ๑๖-๑๘ พ.ย.๕๘) มีจำนวนทั้งสิ้น ๓๑๙ ราย แบ่งเป็นขอทานคนไทย ๒๒๒ ราย ขอทาน ต่างด้าว ๙๗ ราย โดยเป็นชาวกัมพูชา ๘๐ ราย พม่า ๑๔ ราย และจีน ๓ รายซึ่งกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่พบขอทานมากที่สุด ๔๗ ราย "จากกรณีชายพิการ อายุ ๒๙ ปี ถูกตัดขาทิ้งทั้งสองข้างจนถึงก้น ต้องเปิดแผลไว้ที่ช่องท้องเพื่อใช้ในการขับถ่าย เนื่องจากการเป็นอัมพฤกษ์เพราะประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีเงินค่ารักษา และกรณีชายพิการอายุ ๓๖ ปี ถูกตัดขาด้านซ้ายทิ้งเพราะประสบอุบัติเหตุรถยนต์ มีอุจจาระและเลือดเสียจากลำไส้ไหลออกทางทวารอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดสกลนคร ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสกลนคร (พมจ. สกลนคร) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้การช่วยเหลือทั้งสองกรณีตามภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลต่อไป"นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ