สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 23-27 พ.ย. 58 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. 58 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 30, 2015 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิดโดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)ปรับตัว เพิ่มขึ้น 1.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · เครื่องบินรบรัสเซียที่ปฏิบัติการถล่มกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State หรือ IS) ในซีเรีย ถูกเครื่องบินรบตุรกียิงตกโดยอ้างว่าเครื่องบินรบดังกล่าวรุกล้ำน่านฟ้า และได้ทำการเตือนหลายครั้ง แต่ฝ่ายรัสเซียยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวอ้าง ทั้งนี้ประธานาธิบดีของรัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งเพิ่มกำลังทหารและอาวุธสู่ซีเรีย รวมทั้งคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพิ่มความตึงเครียดในตะวันออกกลาง · Baker Hughes รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (Active Oil Rig Count) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น หรือ 1.6% อยู่ที่ระดับ 555 แท่น ทั้งนี้ปริมาณแท่นขุดเจาะปรับตัวลดลงมากกว่า 65% จากระดับสูงสุดในเดือน ต.ค. 57 · กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2558อยู่ที่ 2.1% ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่ 1.5% · กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 พ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 12,000 ราย อยู่ที่ระดับ 260,000 ราย · The Ifo Institute for Economic Research (Ifo) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Confidence) ของเยอรมนี เดือน พ.ย. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.8 จุด แตะระดับสูงสุดในรอบ17 เดือนที่ 109 จุด เนื่องจากความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · Reuters. รายงานรัสเซียผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่นอกกลุ่ม OPEC ประกาศเป้าหมายการผลิตน้ำมันดิบล่าสุด ในระดับสูงกว่า 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะรายรับจากการจำหน่ายน้ำมันและก๊าซปัจจุบัน อยู่ที่ 4.9 ล้านรูเบิล หรือประมาณ 7.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 13% ทำให้งบประมาณรายรับลดลง · Reuters คาดการณ์ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิรักในเดือน พ.ย. 58 (สิ้นสุดวันที่ 24 พ.ย.)เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 300,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 3.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน · EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 พ.ย. 58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 488.3 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 9 · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบWTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ย. 58กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 20,238สัญญา มาอยู่ที่ 107,112 สัญญา แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE Brent และ NYMEX WTI คาดว่าจะปรับตัวลดลง หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากมีการเก็งกำไรของนักลงทุนว่าธนาคารแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์จะลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากตลาดหุ้นจีน เมื่อดัชนี CSI300 ปิดตลาดลดลง 5 % หลังมีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของจีนสั่งการให้โบรกเกอร์ภายในประเทศยุติการทำธุรกรรมผ่าน Swap และสัญญา Over-the-Counter (OTC) อื่นๆ ซึ่งประเมินว่าจะทำให้ Margin Loan ลดลง 1-2 แสนล้านหยวนภายในไม่กี่วันข้างหน้านี้ ทั้งนี้ ก.ล.ต. หวังควบคุมอัตราส่วนของ Margin Trading ด้วยเกรงว่าจะเกิดความเสี่ยงสูงเช่นตลาดซื้อขายล่วงหน้า (Futures)อนึ่ง OTC Swap ในจีนขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีหลัง โดยธุรกรรมทั้งหมดในช่วง 10 เดือนแรกของปี2558 มีมูลค่า 4.6 แสนล้านหยวน (7.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) ให้ติดตามความตึงเครียดในซีเรียที่ขยายวงดึงตุรกีเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ กับรัสเซียที่ล่าสุดทั้งสองฝ่ายต่างเพิ่มกำลังทหารและอาวุธ นอกจากนี้รัสเซียประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อตุรกี ด้านกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้ คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 43.10-47.70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วน Dubai อยู่ที่ 38.10-40.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI อยู่ที่ 39.00-43.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากข่าวหน่วยงานศุลกากรของจีนรายงานยอดส่งออก น้ำมันเบนซิน ในเดือน ต.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 30.8 % และลดลงจากปีก่อน 36.85% มาอยู่ที่ 3.62 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน ของจีนเดือน ต.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 400,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 42.1 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ปริมาณการส่งออกปรับตัวลดลง 600,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ120,000 บาร์เรลต่อวัน บ่งชี้ความต้องการภายในประเทศแข็งแรงประกอบกับ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์บริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19พ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9.0 % มาอยู่ที่ 5.35 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบปี อย่างไรก็ตาม Plattsคาด Pertamina ของอินโดนีเซียจะนำเข้า น้ำมันเบนซิน 88 RON ในเดือน ธ.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 1.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 5.8 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้อินโดนีเซียเริ่มผลิตน้ำมันเบนซิน ในประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 58อีกทั้ง Korean National Oil Corp. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินของบริษัทเอกชนในเกาหลีใต้ เดือน ต.ค.58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.9% อยู่ที่ระดับ 4.7 ล้านบาร์เรล และ International Enterprise Singapore หรือ IESรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ย. 58 เพิ่มขึ้น 6% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 13.16 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.10-58.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Petroleum Planning and Analysis Cell ของอินเดียรายงานยอดส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ต.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 16.5 % และลดลงจากปีก่อน 36.4 % มาอยู่ที่ 13.26 ล้านบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.3% มาอยู่ที่46.94 ล้านบาร์เรล ขณะที่ Korea National Oil Corp. รายงานยอดส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ต.ค. 58 ลดลงจากปีก่อน 10 % มาอยู่ที่ 13.74 ล้านบาร์เรล ประกอบกับกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลของจีนเดือน ต.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 9.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 55.3 ล้านบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดในรอบปี เนื่องจากช่วงก่อนหน้า โรงกลั่นลดกำลังการผลิตน้ำมันดีเซลลง จากค่าตอบแทนการกลั่นตกต่ำ ขณะที่ IESรายงานปริมาณสำรอง Middle Distillate เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ย. 58 ลดลง 7.37%จาก สัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 11.92 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Reuters ประเมินยอดส่งออกน้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลางและเอเชียสู่ยุโรปในเดือน พ.ย. 58 จะลดลงต่ำกว่าเดือนก่อน 30% มาอยู่ที่ 5.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่ยอดส่งออกจากสหรัฐฯ ไปยังยุโรปเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11.2 ล้านบาร์เรล และ PJK International B.V.รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 พ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน2.0 % มาอยู่ที่ 26.50 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.00-56.00เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ