สคร.10 อุบลฯ รณรงค์วันเอดส์โลก 1 ธันวาคม

ข่าวทั่วไป Thursday December 3, 2015 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) กล่าวว่า โรคเอดส์เป็นโรคที่มีความรุนแรง มีผลกระทบต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคมและต่อประเทศชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมาย องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก ให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันรณรงค์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ จากรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ ในปี 2557 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสม 36.9 ล้านคน ซึ่งในปี 2557 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ 1.2 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย จากการคาดประมาณจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จนถึงปี 2558 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์เป็นผู้ใหญ่สะสมแล้วทั้งสิ้นประมาณ 1,201,839 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 775,136 คน ยังมีชีวิตอยู่ 426,707 คน และในปี 2558 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 7,324 คน นพ.ศรายุธ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ประเทศไทย ปัจจุบันได้ยกระดับก้าวสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ภายในปี 2573 กล่าวคือ ประเทศไทยจะไม่มีเด็กที่คลอดมาแล้วติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ มีไม่เกิน 1,000 ราย/ปี ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากสถานการณ์ติดเชื้อ มาตรการสำคัญที่จะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ จะมุ่งเน้นการพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพ และระบบชุมชน การผสมผสาน บูรณาการ ระหว่างงานด้านการป้องกันและการรักษาตามแนวคิด คือ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างทัศคติเชิงบวก ในเรื่องโรคเอดส์ เพื่อลดการรังเกียจและเลือกปฏิบัติในทุกระดับของสังคม ทำให้เอดส์เป็นเรื่องปกติ ให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการ โดยส่งเสริมให้ทุกคนรู้สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ควบคู่ไปกับการเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีให้กับผู้ติดเชื้อในทุกระดับซีดี 4 ไม่ว่าผู้ติดเชื้อจะมีระดับเม็ดเลือดขาวเท่าใดก็ตาม และสนับสนุนให้คงอยู่ในระบบบริการต่อเนื่องและกินยาสม่ำเสมอตลอดชีวิต สิ่งสำคัญผู้ติดเชื้อต้องมีความพร้อมในการรักษาโดยสมัครใจ ตระหนักในการดูแลสุขภาพของตนเองและร่วมมือในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีพฤติกรรมเสี่ยงทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย สามารถเข้ามารับบริการให้คำปรึกษา และตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ได้ที่งาน หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง การทราบผลการตรวจเลือดจะช่วยให้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อเกิดความตระหนักในการ ป้องกันตนเอง ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ก็จะป้องกันไม่ถ่ายทอดเชื้อไปให้ผู้อื่น ขณะเดียวกันจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดการป่วยจากโรคฉวยโอกาส เช่น วัณโรค และลดการเสียชีวิต หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422" นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย ที่มาภาพข่าว : อินเตอร์เนต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ