สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 30 พ.ย. – 4 ธ.ค. 58 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 7 - 11 ธ.ค. 58 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 8, 2015 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิดโดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)ปรับตัว ลดลง 0.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 1.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 2.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Sectors Purchasing Manager's Index-PMI) เดือน พ.ย. 58 ลดลงจากเดือนก่อน0.2 จุด อยู่ที่ 49.6 จุด ค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงการถดถอย ทั้งนี้ผลสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ Reuters คาดว่าจะอยู่ที่ 49.8 จุด · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 พ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 489.4 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 10 สัปดาห์ · ซาอุดีอาระเบียปรับลดราคาขายน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการ หรือ Official Selling Price (OSP) ในเดือน ม.ค. 59 สำหรับลูกค้าเอเชียและสหรัฐฯ เพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น กลยุทธ์ข้างต้นแสดงเจตนาแน่วแน่ของซาอุดีอาระเบียที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดโดยการคงปริมาณการผลิตน้ำมันในระดับสูง · กระทรวงน้ำมันของอิรักรายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากท่า Basrah ทางตอนใต้ของประเทศในเดือน พ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 665,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 3.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบสิบปี ทั้งนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิรักอยู่ที่ระดับ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน · Reuters รายงานปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบ BFOE (Brent ,Fories, Oseberg, Ekofish) ในทะเลเหนือของสหราชอาณาจักรเดือน ม.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 45,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 974,000บาร์เรลต่อวัน โดยน้ำมันดิบที่ส่งมอบเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ น้ำมันดิบ Forties เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 39,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 445,000 บาร์เรลต่อวัน · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ธ.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) ลงจากสัปดาห์ก่อน 7,549 สัญญา มาอยู่ที่ 170,396 สัญญา ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศขยายระยะเวลามาตรการ QE (Quantitative Easing) ออกไปจากกำหนดเดิมอีก 6 เดือน สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2560 โดยคงวงเงินอัดฉีดเงินที่ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เพื่อซื้อพันธบัตรที่เป็นสกุลยูโร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรป อีกทั้งยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.1% ต่อปีมาอยู่ที่ระดับ -0.30% ต่อปี · Markit รายงาน PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนเดือน พ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.5 จุด อยู่ที่ 52.8 จุด สูงสุดในรอบ 19 เดือน เป็นผลจากภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวโดยสมาชิกยูโรโซนเกือบทุกประเทศเพิ่มกำลังการผลิต และมีคำสั่งซื้อใหม่ยกเว้นประเทศกรีซ · Baker Huges รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ (Active Oil Rig Count) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ธ.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 10 แท่น หรือ 1.8% อยู่ที่ระดับ 545 แท่น แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี จากผลการประชุม OPEC ที่ไม่ปรับเพดานการผลิตที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะยังไม่สามารถประเมินปริมาณการผลิตน้ำมันของอิหร่านหลังการคว่ำบาตรสิ้นสุดลงได้ ขณะที่อิหร่านประกาศท่าทีชัดเจนว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตขั้นต่ำอย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งขึ้นตามสัญญาณดอกเบี้ยล่วงหน้าของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่ามีโอกาสราว 78% ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังอัตราว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 58 คงที่อยู่ที่ 5 % ต่ำสุดในรอบ 7.5 ปี อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่ตกต่ำทำให้ผู้ผลิต Shale oil ในสหรัฐฯ ลดจำนวนแท่นผลิตลงอีก 10 แท่น และ Reuters Poll รายงานความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ว่าจีนมีแนวโน้มนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อเก็บสำรองใน SPR ปี 2559 ประมาณ 70-90 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ในปีนี้เก็บสำรองเพิ่มขึ้น 30-40 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ให้จับตาความคืบหน้าการลดกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านที่จะแลก low-enriched uranium กับ non-enriched uranium กับรัสเซียภายในปีนี้ ขณะที่ผู้ตรวจสอบของ IAEA ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ทุกฝ่ายจะดำเนินการตามข้อตกลงครบถ้วนในเดือน ม.ค. 59 ซึ่งจะทำให้การคว่ำบาตรอิหร่านสิ้นสุดลง ด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 39-44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล , WTI ที่ระดับ 37-42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ Dubai ที่ระดับ 36-41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากข่าวบริษัท Essar Oil ของอินเดียออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 470,000 บาร์เรล ส่งมอบ 15-19 ธ.ค. 58 ส่งผลให้ยอดส่งออกน้ำมันเบนซิน 92RON ของบริษัท ฯ ในเดือน ธ.ค. 58 อยู่ที่ 1.4 ล้านบาร์เรล และหน่วยงานศุลกากรของญี่ปุ่นรายงานยอดส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 87.4% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 44.7% อยู่ที่ 2.3 ล้านบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศลดลงหลังสิ้นสุดฤดูขับขี่ อย่างไรก็ตาม Tunisian Refining Industries Co. ของตูนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซินแบบสัญญาระยะยาว (Term) 1 ปี ปริมาณรวม 3.4 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ ม.ค.- ธ.ค. 59 และบริษัท JX Nippon Oil & Energy ในญี่ปุ่นมีแผนประกาศปิดซ่อมบำรุง CDUที่โรงกลั่นน้ำมัน Marifu (กำลังการกลั่น 127,000 บาร์เรลต่อวัน) ช่วงวันที่ 24 ม.ค.-11 มี.ค. 59 ประกอบกับInternational Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillate เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ธ.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.60 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.56 ล้านบาร์เรล และPetroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 28 พ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 300,000 บาร์เรล หรือ 2.7 % อยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรล ขณะที่ PJK International รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.63% มาอยู่ที่ 5.31 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากข่าว Ministry of Economy, Trade and Industryของญี่ปุ่นรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน ต.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22.6 % อยู่ที่ 168,400 บาร์เรลต่อวัน และ PJK International รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ ARA ในยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่26 พ.ย. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.76% มาอยู่ที่ 26.70 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทำสัญญาขายน้ำมันดีเซล 0.001% S เพื่อส่งมอบช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค. 59 ที่ราคา MOPAG + 2.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 6% จากสัญญาปัจจุบันที่ MOPAG + 2.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ระหว่างเดือน ก.ค. 58-มิ.ย. 59 สะท้อนถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นภายหลังหลายประเทศในแอฟริกาตะวันออกหันมาใช้ น้ำมันดีเซล 0.05% S แทนน้ำมันดีเซล 0.5%S และปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลลดลงโดย IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ธ.ค.58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.20 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.72 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 28 พ.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล หรือ 5.3 % อยู่ที่8.7 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ