มหันตภัยฟิลเลอร์...อันตรายจากการฉีดโดยไม่ระวัง

ข่าวทั่วไป Monday December 14, 2015 18:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--คอร์แอนด์พีค รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน ประชาชนนิยมที่จะฉีดฟิลเลอร์หรือสารเติมเต็มเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษาวัยเรียน ผู้หญิงวัยทำงานหรือในกลุ่มสาวประเภทสองก็มีจำนวนมากเช่นกัน โดยสารที่ใช้กันอยู่เป็นประจำเรียกว่า "สารไฮยาลูโรนิคแอซิด" ซึ่งมีอยู่หลายชนิดแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่ 1. แบบชั่วคราว (Temporary Filler) มีอายุใช้งานประมาณ 4 - 6 เดือน แต่มีความปลอดภัยสูง สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ 2. แบบกึ่งถาวร (Semi Permanent Filler) มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี มีความปลอดภัยปานกลาง และ 3.แบบถาวร (Permanent Filler) เช่น ซิลิโคนหรือพาราฟินหลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไปไม่สลายตามธรรมชาติ มักพบผลข้างเคียงระยะยาว ทั้งนี้ "ไฮยาลูรอนิคแอซิด" โดยปกติจะมีอยู่ในผิวหนังของคนเราอยู่แล้ว แต่สิ่งที่นำมาฉีดเป็นการสังเคราะห์ขึ้นมา เมื่อฉีดเข้าไปแล้วก็หวังว่าจะไปเติมเต็มร่องรอยต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมคิดว่าสารตัวนี้ปลอดภัย เพราะสามารถละลายหรือสลายไปได้เอง แต่ปัญหาก็คือความเสี่ยง เมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ผลข้างเคียงที่เจอบ่อย ๆ คืออาการแดงหลังจากการฉีด แล้วก็มีบวมช้ำ เนื่องจากเวลาฉีดจะใช้เข็มจิ้มลงไปบริเวณผิวหนัง ก็อาจจะไปโดนบริเวณเส้นเลือดแดงบ้าง ทำให้เกิดการช้ำบริเวณนั้นได้ แต่ผลข้างเคียงในลักษณะนี้จะไม่น่ากลัว เนื่องจากมันจะหายไปเองได้ ภายในเวลา 2 สัปดาห์ แต่จะมีผลข้างเคียงที่จะพบได้บ่อยและเป็นปัญหา คือ การฉีดฟิลเลอร์แล้วมันจะเป็นก้อน ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ผิดชนิด หรือเลือกเอาฟิลเลอร์ที่ไม่เหมาะสมมาฉีดในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือบางที่เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาตรงบริเวณที่ฉีด ซึ่งบางทีเชื้อซ่อนอยู่ในฟิลเลอร์ ทำให้ร่างกายกำจัดได้ยาก ก็จะกลายเป็นแผลที่มีหนองอยู่ข้างในตลอดเวลา การฉีดฟิลเลอร์นั้น มีข้อควรระวังอยู่ 3 ปัจจัย คือ 1.ตัวผู้ทำการฉีดต้องมีความรู้ ความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงสุดก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ 2.สารที่ใช้แม้ว่าเป็นสารที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาหรืออย. แล้ว ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ แม้แต่การดูดไขมันของตัวเองมาฉีดก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน 3. ตัวผู้รับการฉีด แต่ละคนมีกายวิภาคที่ต่างกัน ตำแหน่งของเส้นเลือดเส้นประสาทอาจมีความแตกต่างจากคนอื่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัด การฉีด การร้อยไหม จะมีพังผืดทำให้เกิดอันตรายง่ายขึ้นอีก การใช้สารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ สำหรับการรักษาผิวพรรณ นั้น ใช้หลักการคือ ผิวหนัง ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ คือใยคอลลาเจนและสารไฮยาลูโรนิค ที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำมากกว่าตัวเองร้อยเท่า มีหน้าที่สำคัญโดยเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณมีรูปทรงเต่งตึง เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชราพบว่า ใยคอลลาเจนและสารอุ้มน้ำจะค่อย ๆ มีจำนวนลดน้อยลง มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผิวหนัง จะมีลักษณะบางลง เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นเพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว จึงมีความพยายามหาทางแก้ไขโดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าฟิลเลอร์นั่นเอง ถึงแม้ว่า "ฟิลเลอร์" จะเป็นสารที่มีความมหัศจรรย์ก็จริง แต่ก็จะต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์จริง ๆ อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยงกับหมอเถื่อน หมอกระเป๋า หรือแม้แต่ซื้อสารเหล่านี้มาฉีดเองจากในอินเตอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียเพราะเห็นว่ามีราคาถูก ที่ผ่านมาสมาคมแพทย์ผิวหนังฯได้แนะนำเทคนิคการฉีดสารเติมเต็มให้ปลอดภัย และมีการจัดอบรมแพทย์ผิวหนังอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้จัดทำคู่มือเวลาเกิดผลข้างเคียงฉีดเข้าเส้นเลือดที่ทำให้ตาบอด หรือเนื้อตายบริเวณผิวหนังจุดต่าง ๆ และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้แพทย์ได้ทราบ และแก้ไขได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที ซึ่งหากประชาชนท่านใดหรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการฉีดฟิลเลอร์ สามารถเข้ามาฝากคำถามเกี่ยวกับปัญหาทางผิวหนัง ในระบบอีเมล์ สามารถส่งคำถามมาได้ที่อีเมล์ question@dst.or.th ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จะให้บริการตอบคำถามแก่ประชาชนทุกท่านโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ หรือสามารถเข้ามาศึกษาได้ที่เว็บไซต์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ