
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้ายกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทยต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดตัวโครงการ "GI ศาสตร์แห่งถิ่น สู่ศิลป์บนจาน" จับมือร้านศรณ์ มิชลิน Fine Dining รางวัล 3 ดาว แห่งเดียวในไทย รังสรรค์เมนูสุดพิเศษจากวัตถุดิบ GI พร้อมนำทีมนักชิมผู้มีชื่อเสียง กูรูอาหารแถวหน้าของเมืองไทยร่วมลิ้มรสสำรับ GI และถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมเดินหน้าขยายไปยังร้านดังอื่นเพิ่มเติม อาทิ ร้านครัวบ้านอิน ร้าน Blue Elephant เป็นต้น

นางสาวนุสรา กาญจนกูล อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญและส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ไทยอย่างต่อเนื่องครบทุกมิติ ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดโครงการ "GI ศาสตร์แห่งถิ่น สู่ศิลป์บนจาน" ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมมือกับเชฟไอซ์ - ศุภักษร จงศิริ เจ้าของร้าน ศรณ์ (Sorn) ร้านอาหารใต้ระดับ Fine Dining และเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกของโลกที่สามารถคว้ารางวัล 3 ดาว จากมิชลิน ในการนำสินค้า GI มาเป็นวัตถุดิบในการรังสรรค์เมนูอาหาร เช่น เมนูเปิดลิ้นที่มีส่วนผสมของแป้งสาคูต้นพัทลุง จานมหาสมุทรใช้กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ข้าวยำรวมพืชพรรณผักที่มีส่วนผสมของส้มโอทับทิมสยามปากพนังช่วยเพิ่มรสชาติและสีสัน เมนูของหวานที่นำเสนอมังคุดเขาคีรีวงไว้อย่างน่าสนใจ เป็นต้น พร้อมชูรสชาติด้วยพริกไทยตรัง และขมิ้นชันสุราษฎร์ธานี พร้อมกันนี้ ได้นำนักชิมและกูรูด้านอาหารชื่อดังของเมืองไทย อาทิ เชฟอิน ณรงค์ฤทธิ์ แซ่ขอ เชฟและนักสร้างคอนเทนต์ด้านอาหาร (food influencer) ที่มีชื่อเสียงจากแพลตฟอร์ม TikTok และเป็นผู้ผลักดันอาหารพื้นถิ่นจังหวัดระนอง คัตโตะ อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล นักร้องนำวงลิปตา ที่ผลิตคอนเทนต์รีวิวอาหารอย่างต่อเนื่อง คุณช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา เจ้าของเว็บไซต์ชื่อดัง The Cloud ซี - เอมี่ นักแสดงและพิธีกรในรายการ "เอมิกาเข้าครัว" ฯลฯ มาร่วมเปิดประสบการณ์ลิ้มรสอาหารไทยระดับ Fine Dining และถ่ายทอดประสบการณ์สู่ผู้ชมในโลกออนไลน์ เพื่อเผยแพร่อัตลักษณ์วัฒนธรรมอาหารไทย รวมถึงสร้างการรับรู้สินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
นางสาวนุสรา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากร้านศรณ์แล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญายังร่วมมือกับร้านอาหารที่มีชื่อเสียงอีก 5 ร้าน ได้แก่ ร้านบ้านเทพา ร้าน Blue Elephant ร้านบ้านไอซ์ ร้าน North Restaurant และร้านครัวบ้านอิน ในการนำสินค้า GI มาเป็นวัตถุดิบในเมนูประจำร้านเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 3 เดือน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า GI ไทยแล้ว ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบอาชีพด้านอาหารหันมาสนใจและเกิดไอเดียในการนำวัตถุดิบ GI จากชุมชนท้องถิ่นไปสร้างสรรค์เมนูอาหารที่มีคุณภาพ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการดึงทรัพยากรที่มีศักยภาพเป็นซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน