กกพ. ปรับลดค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 59 ลง 1.57 สตางค์ต่อหน่วย ของขวัญปีใหม่ ลดภาระผู้ใช้ไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 29, 2015 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--Triple J Communication คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับลดค่าเอฟทีในงวดเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2559 ลง 1.57 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีในงวดดังกล่าวอยู่ที่ -4.80 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นของขวัญปีใหม่ นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยภายหลังจากการประชุม กกพ. ว่า กกพ. ได้พิจารณาปรับลดค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2559 ในอัตรา -4.80 สตางค์ต่อหน่วย ลดลง 1.57 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเอฟทีที่ปรับตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ปี 2558 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา ซึ่งได้กำหนดให้ ค่าเอฟทีในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2558 เท่ากับ -3.23 สตางค์ต่อหน่วย โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการปรับลดค่าเอฟทีในงวดเดือน มกราคม – เมษายน 2559 นี้ คือ แนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ นายวีระพล ยังได้กล่าวสรุปถึงปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2559 ดังนี้ 1. อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยจำนวน 1.49 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือน พ.ย. 58 ที่ 35.94 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เทียบกับแผนช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 58 ที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 34.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ 2. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 59 คาดว่าจะเท่ากับ 61,371 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. 58 (59,046 ล้านหน่วย) ร้อยละ 3.94 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน 3. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 59 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักร้อยละ 64.38 รองลงมาเป็นการซื้อไฟฟ้าจากลาวและมาเลเซียร้อยละ 10.37 ถ่านหินลิกไนต์ร้อยละ 8.91 และ ถ่านหินนำเข้าร้อยละ 8.87 ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ และถ่านหินลดลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากในปี 2559 มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น 4. แนวโน้มราคาเชื้อเพลิง คาดว่าราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติ จะอยู่ที่261.19 บาทต่อล้านบีทียู ปรับตัวลดลงจากงวดที่ผ่านมา 15.53 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเตาที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 ราคาน้ำมันเตาจะอยู่ที่ 11.85 บาทต่อลิตร ปรับตัวลดลง 7.29 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ 19.36 บาทต่อลิตร ลดลงเล็กน้อยจำนวน 1.12 บาทต่อลิตร ราคาถ่านหินนำเข้าจะอยู่ที่ 2,993.30 บาทต่อตัน มีแนวโน้มลดลง 393.28 บาทต่อตัน ตามราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ทยอยปรับตัวลดลง และราคาลิกไนต์อยู่ที่ 693 บาทต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 123.30 บาทต่อตัน ราคาเชื้อเพลิง ก.ย. – ธ.ค. 58 ม.ค. – เม.ย. 59 เปลี่ยนแปลง (แผน) (แผน) (1) (2) (2) – (1) % ก๊าซธรรมชาติ* บาท/ล้านบีทียู 276.72 261.19 -15.53 -5.61 น้ำมันเตา บาท/ลิตร 19.14 11.85 -7.29 -38.09 น้ำมันดีเซล บาท/ลิตร 20.48 19.36 -1.12 -5.47 ถ่านหินนำเข้า บาท/ตัน 3,386.58 2,993.30 -393.28 -11.61 ลิกไนต์* บาท/ตัน 569.70 693 123.30 21.64 หมายเหตุ: * ราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ย (ไม่รวมค่าผ่านท่อและค่าดำเนินการ) * ปรับราคาถ่านหินลิกไนต์เหมืองแม่เมาะจากเดิม 569.70 บาท/ตัน ซึ่งใช้คงที่มาตั้งแต่ปี 2543 ส่งผลให้ธุรกิจเหมืองของ กฟผ. เริ่มขาดทุน ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา กฟผ. จึงเสนอขอให้ กกพ. พิจารณาปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยให้ใช้ราคาต้นทุนเฉลี่ยในปี 2558-2560 เท่ากับ 693 บาท/ตัน ไปพลางก่อน ในการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ตั้งแต่เดือน พ.ย. 58 เป็นต้นมา5. การส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายของภาครัฐ ได้แก่ Adder และ FiT ในเดือนมกราคม – เมษายน 2559 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าเอฟทีเพิ่มจากช่วงที่ผ่านมาประมาณ 4.07 สตางค์ต่อหน่วย 6. จากการปรับการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ก.ย. – ธ.ค. 58 ทำให้มีส่วนต่างของเงินค่าเอฟทีที่คำนวณได้ และค่าเอฟทีที่คาดว่าจะเรียกเก็บ (ค่า AF) สะสมจำนวน 2,019 ล้านบาท โดยได้นำมาปรับลดค่าเอฟทีในเดือนมกราคม – เมษายน 2559 จำนวน -3.61 สตางค์ต่อหน่วย 7. กกพ. ได้พิจารณานำเงินชดเชยส่วนลดค่าก๊าซฯ ของโรงไฟฟ้าขนอมเดือนกรกฎาคม 2557-สิงหาคม 2558 จำนวน 269.02 ล้านบาท และเงินปรับลดแผนการลงทุนปี 2551 – 2553 ส่วนที่เหลือของทั้ง 3 การไฟฟ้า จำนวน 137.16 ล้านบาท รวมเป็น 406.18 ล้านบาท มาปรับลดค่าเอฟทีในงวดนี้ คิดเป็น -0.73 สตางค์ต่อหน่วย "ทั้งนี้ กกพ. ได้มีการกำกับดูแลค่าเอฟทีตามต้นทุนราคาที่แท้จริง ตั้งแต่กลางปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน รวม 22.62 สตางค์ต่อหน่วย ตามราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลง รวมถึงตามอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า และเป็นไปตามประกาศนโยบายรัฐ" นายวีระพล ได้กล่าวย้ำ จากการกำหนดค่าเอฟทีเรียกเก็บงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2559 ในอัตรา -4.80 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลง 1.57 สตางค์ต่อหน่วย จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 3.7076 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือลดลงร้อยละ 0.42 และจากมติ กกพ. ดังกล่าวข้างต้น สำนักงาน กกพ. จะเผยแพร่รายละเอียดทั้งหมดผ่านทาง www.erc.or.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 7 มกราคม 2559 ก่อนที่จะนำผลการรับฟังความคิดเห็น มาพิจารณาและให้การไฟฟ้าประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป
แท็ก ปีใหม่  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ