“กาญจนบุรี” ปฏิรูปการศึกษาแก้ปัญหา “เด็กด้อยโอกาส” นำร่องพัฒนา 4 แผนงานยกระดับการศึกษามุ่งสู่การมีสัมมาชีพ

ข่าวทั่วไป Tuesday December 29, 2015 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์ จังหวัดกาญจนบุรี โดย คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี, องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี โดยการสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ภายใต้ "โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน" (Area-Based Education) เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาทั้งจังหวัด ผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเด็กและเยาวชนเพื่อบูรณาการแก้ปัญหา พร้อมนำร่องพัฒนา 4 แผนงาน ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพการศึกษาและเตรียมความพร้อมสู่การมีสัมมาชีพ นายสะอาด ทั่นเส้ง หัวหน้าคณะทำงานโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่าที่ผ่านมาคณะทำงานของจังหวัดกาญจนบุรีได้จัดเวทีเพื่อรับฟังปัญหาด้านการจัดการศึกษาของจังหวัดไปแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง ครอบคลุมทุกอำเภอซึ่งพบว่าคุณภาพการศึกษาโดยภาพรวมนั้นอยู่ในลำดับท้ายๆ ของประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากกาญจนบุรีมีพื้นที่กว้างเป็นอันดับ 3 ของประเทศ และมีผู้คนหลากเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ทั้งกระเหรี่ยง พม่า และมอญที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังมีปัญหาเด็กมัธยมออกกลางคันมากถึงเกือบร้อยละ 20 และมีเด็กที่เรียนอาชีวะไม่จบหลักสูตรถึงร้อยละ 30 สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้คนกาญจนบุรีเห็นว่าเราต้องหันกลับมาดูตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น รวมไปหนึ่งหน่วยงานที่ดูแลด้านการศึกษาที่จะต้องหันมาทำงานเชื่อมโยงกันให้มากยิ่งขึ้นไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา "ขณะนี้คนเมืองกาญจน์ค่อนข้างที่จะรับรู้และเข้าใจสภาพปัญหาเหล่านี้ในมุมกว้างมากขึ้น และจากข้อมูลที่ได้มาทำให้คณะทำงานได้จัดทำ โครงการนำร่อง 4 โครงการขึ้นคือ การจัดทำหลักสูตรอาชีพระยะสั้นที่อำเภอสังขละบุรี โดยร่วมกับวิทยาลัยอาชีวะและการอาชีพทุกแห่งในจังหวัดเพื่อฝึกอาชีพระยะสั้นให้กับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้เขาสามารถอยู่ในชุมชนอยู่ในท้องถิ่นและมีอาชีพได้ รวมไปถึงการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้ครูได้อยู่กับเด็กให้มากขึ้นที่อำเภอท่าม่วง ที่จะทำงานผ่านการทำงานของคณะกรรมการสถานศึกษาที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับบุตรหลานของตนเองให้มากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเด็กและเยาวชนเพื่อให้สามารถติดตามช่วยเหลือเด็กทุกคนได้อย่างละเอียด ไม่ว่าเด็กจะป่วย มาเรียนกี่คน ติดยา ท้องก่อนวัย เรียนไม่จบ หรือมีคนที่ปริญญากี่คนในชุมชนท้องถิ่น ข้อมูลตรงนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ทรัพยากรที่ร่วมกันตรงนั้นเข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกัน และโครงการสุดท้ายก็คือโครงการเรื่องภาษาสู่อาชีพที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เพราะกาญจนบุรีกับเมืองทวายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่จะส่งผลต่ออาชีพต่างๆ ที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต เราจึงต้องปูพื้นเรื่องภาษาทั้งพม่าอังกฤษเพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพให้กับเด็กของเราในอนาคตมากยิ่งขึ้นและตั้งเป้าหมายไหมว่าปีหน้าก็จะขยายผลออกไปครอบคลุมให้ได้ทั้งจังหวัด" หัวหน้าคณะทำงานโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ