“เมืองย่าโม” เดินหน้าปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อก้าวสู่ “โคราชมหานคร” จับมือเอกชนขยายผล “หลักสูตรคู่ขนาน” เลือกเรียนรู้ควบคู่สัมมาชีพ

ข่าวทั่วไป Tuesday December 29, 2015 17:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--ไอแอมพีอาร์ "การจัดการศึกษาเพื่อทักษะอาชีพและการมีงานทำ" เป็นโจทย์ใหญ่ของระบบการศึกษาไทย และเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในด้านต่างๆ ตามต้นทุนและศักยภาพของแต่ละจังหวัดได้อย่างเหมาะสม "จังหวัดนครราชสีมา" เป็นหนึ่งใน 14 จังหวัดที่ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ขับเคลื่อน โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ หรือ Area Based Education (ABE) ภายใต้ "โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา" โดยมี เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ภายใต้แนวคิด "การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำสอดรับการเป็นโคราชมหานคร" ทั้งนี้เนื่องจากโคราชมีพื้นที่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีประชากรเป็นอันดับ 2 เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งภาคอีสาน จึงต้องเตรียมความพร้อมด้านแรงงานให้สอดรับกับการขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรม โดยพบว่าทักษะแรงงานที่เด็กโคราชต้องมีคือ ทักษะด้านอุตสาหกรรม, ด้านการท่องเที่ยว และด้านเกษตรกรรม โดยได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างแรงหนุนเสริมในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเตรียมจับมือกับภาคเอกชน ขยายผลการจัดทำ "หลักสูตรคู่ขนาน" ของโรงเรียนนำร่องในจังหวัดเพื่อสร้างทางเลือกในการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมสู่โลกของการทำงานให้กับเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัด ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล หัวหน้าคณะทำงาน โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มของภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคการศึกษา รวมไปถึงภาคศิลปวัฒนธรรมเพื่อพูดคุยกันในประเด็นของการปฏิรูปการศึกษา โดยพบว่าทุกๆ กลุ่มได้ปักธงการศึกษาของจังหวัดไปในทิศทางเดียวกันคือ การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ด้วยการเตรียมความพร้อมให้เด็กโคราชเป็นผู้ที่มีทักษะและต้องทำงานอย่างมืออาชีพ "แนวทางหนึ่งของการเตรียมความพร้อมด้านทักษะอาชีพเพื่อตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของจังหวัดก็คือ การจัดทำหลักสูตรคู่ขนานที่ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ในด้านวิชาการควบคู่ไปกับทักษะอาชีพในด้านต่างๆ สิ่งสำคัญในตอนนี้คือเราต้องรู้ความต้องการว่าเอกชนต้องการคนแบบไหน แล้วก็จะต้องหาโรงเรียนที่มีความพร้อมมารองรับ ต้องจับทั้งดีมานต์และซัพพลายมารวมกัน ตอนนี้ภาคเอกชนอาจมองว่าหลักสูตรยังมีความบกพร่องเด็กยังไม่ได้รับความรู้หรือทักษะการทำงานอย่างแท้จริง ดังนั้นจะต้องเชิญเอกชนเข้ามาร่วมกันพัฒนาหลักสูตร ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนาหลักสูตร "ดร.ปภากร ระบุ นายศักดิ์เดช กองสูงเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 4(เพาะชำ) กล่าวถึงหลัก "สูตรคู่ขนาน" ที่ร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี และ วิทยาลัยสารพัดช่างนครราชสีมา ว่าเป็นหลักสูตรที่เรียนใน 2 รูปแบบไปพร้อมกัน คือทั้งสายสามัญและสายอาชีพ โดยเด็กจะเรียนทั้งวิชาพื้นฐานสายสามัญทั่วไปในขณะเดียวกันก็เรียนทักษะทางวิชาชีพในสาขาที่ตนเองสนใจ เมื่อเรียบ 3 ปีก็จะได้ทั้งวุฒิ ปวช. และ ม.6 โดยปัจจุบันเปิดสอนหลักสูตรคู่ขนานอยู่ 3 สาขาวิชาคือ 1.หลักสูตรช่างยนต์ 2.หลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และ 3.หลักสูตรศิลปะการดนตรี "เป้าหมายของหลักสูตรนี้ก็เพื่อต้องการช่วยเหลือกเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีความพร้อมในการเรียนสายสามัญเพื่อเรียนต่อระดับปริญญาตรีให้สามารถที่จะเรียบจบใน 3 ปีแล้วมีอาชีพได้ ประกอบกับเด็กกลุ่มนี้มีฐานะค่อนข้างยากจน ถ้าจะไปเรียนสายอาชีพจะใช้เงินค่อนข้างสูง แต่การเรียนหลักสูตรคู่ขนานไม่ต้องใช้เงินมาก ซึ่งเราจะสามารถช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้มีงานทำได้อย่างรวดเร็วและช่วยตัวเองได้หลังเรียนจบ และถึงแม้ว่าบางคนอาจจะไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม อย่างน้อยทักษะที่ได้รับจากหลักสูตรต่างๆ เหล่านี้ก็มีประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้" ผอ.ศักดิ์เดช กล่าว นางประไพ คำกายปรง รองผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา รักษาการผู้อำนวยการสถานศึกษาเปิดเผยว่า โรงเรียนกีฬาแห่งนี้จัดการสอนแบบวิชาการควบคู่ไปกับกีฬา โดยเปิดสอน 6 ชนิดกีฬาคือ ยกน้ำหนัก มวยไทย มวยสากล ฟุตบอล ตะกร้อ และกรีฑา "ภาคเช้าจะเรียนไปจนถึงบ่ายสามโมง แล้วก็จะลงซ้อมไปจนถึง 1 ทุ่ม เด็กของเราจะเหนื่อยมาก ดังนั้นในเวลาเรียนเราจึงไม่เคร่งมากนัก แต่เด็กต้องรับผิดชอบในการเข้าเรียน โดยเป้าหมายของเด็กที่มาเรียนที่นี่ก็คือการเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งนอกจากจะรับใช้ประเทศชาติแล้วเขายังมีความหวังที่ว่าจะมีอาชีพด้วย เพราะจะเห็นว่านักกีฬาทีมชาติทุกคนมีอาชีพต่างๆ รองรับ และเด็กนักเรียนของเราเมื่อจบ ม.6 แล้วทางโรงเรียนได้ทำ MOU กับสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตมหาสารคาม และวิทยาเขตสุโขทัย เพื่อให้สามารถฝึกซ้อมได้อย่างต่อเนื่องแม้จะอยู่ในระดับปริญญาตรี" นางประไพกล่าว น.ส.นัชชา แก้วสุวรรณ์ หรือ "น้องยุ้ย" นักเรียนชั้น ม.5 แผนกศิลปะการดนตรี โรงเรียนเทศบาล 4(เพาะชำ) ในหลักสูตรนี้จะเรียนวิชาสายสามัญที่โรงเรียน 3 วัน และเรียนดนตรีที่วิทยาลัยสารพัดช่างอีก 2 วัน และตลอด 3 ปี จะไม่มีการปิดภาคเรียน เพราะต้องมาเรียนเพิ่มเติมอีก 12 รายวิชา และฝึกงาน "การเรียนจะลงลึกในเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับดนตรี และเน้นการปฏิบัติ ที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้เนื่องจากชอบเล่นดนตรี และเห็นว่าเมื่อเรียนจบได้ทั้งวุฒิม.6 และ ปวช. จะเรียนต่อหรือทำงานก็สามารถทำได้ ระหว่างเรียนก็ยังมีรายได้จากการแสดงต่างๆ มีเงินใช้โดยไม่ต้องรบกวนพ่อแม่ ตอนนี้ตั้งใจว่าถ้าเรียนจบอาจจะทำงานสักพักก่อนแล้วค่อยไปเรียนต่อโดยตั้งใจว่าจะเป็นครูสอนดนตรี" น้องยุ้ยกล่าว น.ส.วาสนา เชียรรัมย์ หรือ "น้องนุกนิก" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์ เอกพลศึกษา สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตสุโขทัย ที่เรียนในหลักสูตรกีฬาควบคู่ไปกับด้านวิชาการในโรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา มาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมต่อเนื่องไปจนระดับปริญญาตรีเล่าให้ฟังว่า "ที่นี่จะเรียนแบบครึ่งหนึ่งซ้อมกีฬาครึ่งหนึ่ง เพราะทุกคนมีเป้าหมายในการเป็นนักกีฬาทีมชาติจึงต้องซ้อมหนัก และก็ไม่ต้องเป็นภาระให้กับครอบครัวเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะทางโรงเรียนออกให้เกือบทั้งหมด ที่สำคัญเมื่อจบออกไปแล้วยังมีงานรองรับซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับผลงานของเรา ส่วนใหญ่แทบจะไม่ตกงานเพราะสามารถไปเป็นครูสอนกีฬาหรือโค๊ชให้กับทีมกีฬาหรือโรงเรียนต่างๆ" น้องนุกนิกเล่า "มทส. ในฐานะผู้ประสานงานหรือตัวเชื่อมในจังหวัดจะต้องดึงภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมกับภาคการศึกษา การพูดคุยระหว่างภาคเอกชนกับโรงเรียนจะต้องมีมากขึ้นเพื่อปรับจูนความเข้าใจระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ว่าภาคเอกชนต้องการอะไร ซึ่งตรงนี้คิดว่าจะเป็นเป้าหมายในระยะถัดไปที่เราจะทำให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น" ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล กล่าวสรุป. ทั้งหลักสูตรคู่ขนานเพื่อทักษะอาชีพ และการสอนวิชาการควบคู่ไปกับกีฬาอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรี ล้วนแต่เป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาที่สร้างโอกาสและทางเลือกในการเรียนรู้เพื่อมุ่งสู่การมีอาชีพภายหลังจบการศึกษาที่น่าสนใจ ที่ทุกภาคส่วนควรนำไปขยายผลเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการเรียนรู้ และเตรียมพร้อมสู่โลกของงานในอนาคตให้กับเด็กและเยาวชน.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ