“แม่ฮ่องสอน” เปิดเวทีระดมความคิดสานฝัน “ปฏิรูปการศึกษา” บ่มเบาะเด็กและเยาวชน ปลูกฝังค่านิยมใหม่ “รักษ์แม่ฮ่องสอน”

ข่าวทั่วไป Saturday January 2, 2016 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--ไอแอมพีอาร์ เพราะการศึกษาคือ "หัวใจ" และเป็น "รากฐาน" ที่สำคัญของการพัฒนา โดยเฉพาะการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาเพื่อให้ตอบโจทย์หรือทิศทางการพัฒนาของแต่ละจังหวัดตามต้นทุนและศักยภาพที่มีอยู่นั้น นอกจากจะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆ ขึ้นในพื้นที่แล้ว ยังจะทำให้ท้องถิ่นสามารถรับมือกับกระแสทุนและการพัฒนาจากภายนอกได้เป็นอย่างดี "แม่ฮ่องสอน" เป็นหนึ่งใน 14 จังหวัดที่ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ขับเคลื่อน โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ หรือ Area Based Education (ABE) ภายใต้ "โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน" โดยมี "สมาคมพัฒนาการศึกษาแม่ฮ่องสอน" เป็นผู้ประสานงานหลักในพื้นที่ๆ มีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นในการที่จะแก้ปัญหาด้านการศึกษาของจังหวัดในทุกๆ ด้านที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ "เวทีเสวนาแม่ฮ่องสอนจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้" เพื่อระดมความคิดในประเด็น "ความต้องการปฏิรูปการศึกษาของคนแม่ฮ่องสอน...ใครช่วยได้บ้าง?" จึงเกิดขึ้น โดยได้เชิญชวนทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันพัฒนากรอบการดำเนินงานโดยใช้ทุนในพื้นที่เป็นฐาน ตั้งเป้าหมายเพื่อให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความขีดความสามารถในการปฏิรูปการศึกษาหรือจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันสำหรับเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยได้ด้วยตนเอง นายพิพัฒน์ เอกาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะต้องพัฒนาเรื่องการศึกษาให้เป็นวาระของจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ทั้งเรื่องปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คนพิการด้อยโอกาสไม่ได้รับการดูแลด้านการศึกษา การขาดแคลนกำลังคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นคนแม่ฮ่องสอนที่จะเข้ามาร่วมกันพัฒนาจังหวัดในมิติต่างๆ ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกคนเห็นบริบทในการทำงานร่วมกัน "วันนี้เราจะต้องสร้างจังหวัดนิยมหรือสร้างค่านิยมใหม่ให้เด็กและเยาวชนมีความรักและความภูมิใจในความเป็นคนแม่ฮ่องสอน สร้างความตระหนักรู้ ห่วงใย หวงแหน ซึ่งเมื่อสิ่งเหล่านี้อยู่ในใจคนแม่ฮ่องสอนก็จะทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเราจะต้องหล่อหลมอรวมพลังสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาให้ได้ นับจากนี้เราจะวางรากฐานการศึกษาสำหรับเด็กแม่ฮ่องสอนทุกคน คัดแยกเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมให้เขาก้าวลงสู่ลู่วิ่งให้ถูกทางอย่างเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละคน" นางอ่อนศรี ศรีอัมพร หัวหน้าคณะทำงานโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าเป้าหมายการดำเนินงานของแม่ฮ่องสอนคือการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยทั้งในและนอกระบบให้ดีขึ้น ด้วยการพัฒนากลไกการจัดการที่มีภาคีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมมือ พัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกันของทุกหน่วยงานเพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อให้เกิดการการกำกับและติดตามการพัฒนาการศึกษาของแม่ฮ่องสอนในพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ "ทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมเวทีในวันนี้คือผู้ที่จะมีส่วนสำคัญที่จะร่วมกันคิดและร่วมกันดำเนินการ ทั้งการพัฒนาขับเคลื่อนหรือแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ให้เกิดความสำเร็จขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเป็นจุดเริ่มต้นการขยายผลความร่วมมือออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น" โดยใน "เวทีเสวนาแม่ฮ่องสอนจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้" ที่เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต้นสังกัด ผู้อำนวยการสถานศึกษา คณะครู ครูภูมิปัญญา ภาคประชาสังคม ชมรมผู้ปกครองฯลฯ มาร่วมพูดคุยกัน โดยทุกกลุ่มมองเห็นปัญหาการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปในทิศทางเดียวกันคือ ความไม่เท่าเทียมกันในด้านโอกาสและคุณภาพของการศึกษา อันเนื่องมาจากสภาพพื้นที่ๆเป็นภูเขาและห่างไกล ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จากการที่ภาษาไทยเป็นภาษาที่ 2 ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของแม่ฮ่องสอนอยู่ในลำดับรั้งท้าย ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากเวทีในครั้งนี้ได้มองไปที่ การสร้างพิมพ์เขียวให้กับเด็กแม่ฮ่องสอนด้วยการสร้างหลักสูตร "รักษ์แม่ฮ่องสอน" เรียนรู้วัฒนธรรมควบคู่ไปกับคุณธรรม ปลูกฝังความรักท้องถิ่น สร้างเจตคติที่ดีต่อการมีสัมมาชีพ มีความรู้ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนโดยใช้กระบวนการ PBL การแก้ปัญหาเรื่องอ่านเขียนได้ การเปิดรับครูภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่รั้วของโรงเรียน การเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ที่สามารถกินได้ และวัดผลคุณภาพการศึกษาด้วยการมีงานทำฯลฯ ดร.จรูญ คำนวนตา ประธานสภาวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ระบุว่าเวทีในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมประสานการทำงานด้านการศึกษาของจังหวัดระหว่างทุกภาคส่วนต่างๆ แต่ละฝ่ายจะได้ทราบถึงศักยภาพของตนเองในการที่จะสามารถเข้ามาช่วยทำงานด้านการศึกษา เช่นอะไรที่ราชการทำไม่ได้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นความหวังใหม่ของเรา "วันนี้เราจะปล่อยให้โรงเรียนดูแลลูกหลานของเราอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะโลกพัฒนาไปไกลแล้วก็มีสิ่งใหม่ๆ ที่ทั้งดีและไม่ดีเข้ามา ตรงนี้เราจะต้องใช้วัฒนธรรมดั้งเดิมที่เรามีนั่นก็คือความรู้สึกที่ว่าเด็กในแม่ฮ่องสอนทุกคนเป็นลูกหลาน ทุกคนต้องช่วยกันดูแลไม่ใช่ลูกใครลูกมัน ดังนั้นภาคประชาสังคมก็จะมีส่วนสำคัญ ถ้าทุกคนช่วยกันดูแลช่วยกันเติมเต็มเชื่อมั่นว่าเด็กของเราจะไม่ด้อยกว่าที่อื่น" นายบัณฑิต นิลอุดมศักดิ์ กรรมการสมาคมพัฒนาการศึกษาแม่ฮ่องสอน นักธุรกิจในพื้นที่ๆ สนใจงานด้านการศึกษากล่าวว่า เวทีวันนี้เราได้เกิดการจัดทำหลักสูตรรักษ์แม่ฮ่องสอน ที่จะมีการรวมรวมหลักสูตรท้องถิ่นต่างๆ ขึ้นมาใหม่ เพื่อบรรจุเข้าไปในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กแม่ฮ่องสอนได้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง สร้างจิตสำนึกรักและหวงแหนในความเป็นแม่ฮ่องสอน "สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 2 เขตร่วมกับผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ ได้รับเรื่องหลักสูตรรักษ์แม่ฮ่องสอนไปขับเคลื่อนต่อให้เกิดผลขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือในการทำงาน เป็นก้าวแรกที่จะทำงานในประเด็นนำร่องของภาคส่วนและหน่วยงานต่างๆ ในด้านการจัดการศึกษาของจังหวัด ที่พร้อมจะขยายผลไปสู่เรื่องอื่นๆ นับจากนี้" นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน นักวิชาการ สสค. กล่าวในเวทีปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนว่า เป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาคือ การทำให้การศึกษามีความหลากหลายและตอบโจทย์การพัฒนาในด้านต่างๆ ของจังหวัดซึ่งเป็นไปตามศักยภาพของท้องถิ่น และการศึกษาที่ดีจะต้องเป็นการการจัดการศึกษาที่ดำเนินงานควบคู่ไปกับเศรษฐกิจพื้นฐานของจังหวัด "นับจากนี้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ถ้าทุกจังหวัดสามารถทำได้ ไม่ว่าโครงสร้างของกระทรวงจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไรก็ไม่มีผล เพราะภาคประชาสังคมจังหวัดมีความเข้มแข็ง และการเปิดโอกาสให้คนในพืนที่ได้ทำงานเรื่องของศึกษาให้เต็มที่ จะทำให้มองเห็นความหลากหลายซึ่งตอบโจทย์ชีวิตในการมีงานทำทุกพื้นที่ได้อย่างแท้จริง" นักวิชาการ สสค.สรุป.
แท็ก สานฝัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ