เกษตรฯ ปลื้ม เอฟ เอ โอ มอบรางวัลไทยเจ๋ง คุมเข้มการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู และขยายผลสู่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสำเร็จ ช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ข่าวทั่วไป Friday January 8, 2016 16:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ ได้ประกาศให้ประเทศไทยได้รับรางวัลเอดวาร์ด ซาวมา(EdouardSaouma Award) ตามที่ประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ ดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟ เอ โอ ในโครงการเสริมสร้างสมรรถนะในการป้องกันและจัดการการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(Capicity Building for Spread Prevention and Management of Casava Pink Mealybug in the Greater Mekong Sub - region) (แคปิซิตี้ บิลดิ้งฟอร์สเปรด พรีเวนชั่นแอนด์ เมนเนจเมนท์ออฟ คาซาวา พิงค์มิลลี่บั๊คอิน เดอะเกรเตอร์ แม่โขง ซับ รีเจียน) เมื่อปี 2554 ถึง 2556 อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันการระบาด และควบคุมความเสียหายจากเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูได้ทั้งในประเทศและยังขยายผลสู่ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ผ่านมาประเทศไทย และประเทศในกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2551 - 2552 และมีการระบาดรุนแรงสูงสุดกว่า 1.44 ล้านไร่ และทำให้ผลผลิตเสียหายมากกว่า 5.3 ล้านตัน มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งภายหลังจากการพบการระบาด หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ร่วมมือกัน หาวิธีการยับยั้งและควบคุมการระบาด โดยกรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาวิจัยการใช้แตนเบียน อะนาไกรัสโลเพสซี่ (Anagyruslopezi) ที่นำมาจากสาธารณรัฐเบนิน ทวีปแอฟริกา มาควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูได้ผลเป็นอย่างดียิ่ง และงานวิจัยการแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนปลูกด้วยสารเคมี เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่ติดมากับ ท่อนพันธุ์ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้วิจัยการใช้และการผลิตขยายแมลงช้างปีกใส ซึ่งเป็นแมลงตัวห้ำที่ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูได้ ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำผลงานวิจัยของหน่วยงานและสถาบันวิชาการต่างๆมาบูรณาการด้านเทคโนโลยีแล้วนำไปให้ในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูแบบผสมผสาน ผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามระบบส่งเสริมการเกษตรรวมทั้งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร โดยจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดระบบการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูเป็น 3 มาตรการ คือ 1.มาตรการกำจัดในพื้นที่ทีมีการระบาด 2. มาตรการป้องกันพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด และ 3. มาตรการรณรงค์ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้การควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูประสบความสำเร็จได้ภายในระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการบริหารและวิชาการการจัดการเพลี้ยแป้งสีชมพูของมันสำปะหลัง แก่ประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจนเป็นผลสำเร็จ จึงทำให้ประเทศไทยได้รับรางวัลนี้ "ความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาคประชาชน โดย สมาชิกศูนย์จัดการศัตรูพืช (ศจช.) ผู้ปลูกมันสำปะหลังภาคเอกชน โดยสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยและสมาคมและโรงงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพจนสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้ จนไปได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล EdouardSaouma Award ในครั้งนี้" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ