สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 4-8 ม.ค. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 11-15 ม.ค. 59 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 11, 2016 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปปรับลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (ICE Brent) ปรับตัวลดลง 2.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 35.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 30.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ลดลง 2.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 34.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลดลง 2.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · นักลงทุนจีนเทขายหุ้นเพราะมุมมองเชิงลบต่อสภาวะเศรษฐกิจจีนส่งผลให้ดัชนี CSI 300 (ตลาดหุ้นShanghai และ Shenzhen) เมื่อวันที่ 4 และ 5 ม.ค. 59 ลดลง 7 % จนตลาดยุติการซื้อขายโดยอัตโนมัติทันทีตลอดวัน (Circuit Breaker) ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนจนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลง · ธนาคารกลางจีนเผยปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Reserve) ในเดือน ธ.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 1.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการปรับตัวลดลงรายเดือนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ · ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลก ในปี 2559 มาอยู่ที่2.9% เมื่อเทียบกับปี 2558 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าเมื่อเดือน มิ.ย. 58 ที่ 3.3% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น บราซิล และรัสเซีย อาจถดถอยต่อเนื่อง · Reuters ประเมินว่าเอเชียนำเข้าน้ำมันดิบจากภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกในเดือน ม.ค. 59 ลดลง 7.7 %จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 1.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากจีนและอินเดียซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ลดการนำเข้าลง · CFTC รายงานสถานะการลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด NYMEX ที่นิวยอร์กและตลาด ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) มาอยู่ที่ 49,180 สัญญา ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 28,946 สัญญา ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · ความตึงเครียดระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน (นิกายชีอะห์) หลังรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย (นิกายซุนนี) ตัดสินประหารชีวิตครูสอนศาสนานิกายชีอะห์ชื่อดัง นาย Nimr al-Nimr และนักโทษในข้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย รวม 47 คน และซาอุดีอาระเบียประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน · Baker Hughes Inc. รายงานว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ม.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 20 แท่น อยู่ที่ 516 แท่น ต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี ทั้งนี้ ในปี 2558 แท่นขุดเจาะลดลง 963 แท่น จากปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ปีและลดลงมากสุดในรอบ 37 ปี · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 58 อยู่ที่ 9.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 · EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ม.ค. 59 อยู่ที่ 482 ล้านบาร์เรล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.1 ล้านบาร์เรล แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ลดลงต่อเนื่อง 5 วัน ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 12 ปี บทวิเคราะห์ล่าสุดของ Goldman Sachs หัวข้อ 'เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร – Are We There Yet?' ระบุเหตุสำคัญที่ทำให้ Sentiment ของนักลงทุนต่อตลาดน้ำมันตกต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ ยังคงมองโลกในแง่ดีโดยหวังว่าราคาน้ำมันดิบ WTI กลับไปแตะระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้ไม่ปรับลดปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบให้เหมาะสม สอดคล้องกับราคา ณ ปัจจุบันที่ระดับ $35/BBL นอกจากนี้ การที่บริษัทPioneer Natural Resources ซึ่งเป็นผู้ผลิต Shale Oil รายใหญ่ตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยประกาศเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อระดมเงินทุนไปดำเนินกิจการและเสริมสถานะงบดุลของบริษัทให้ดีขึ้น เป็นการเพิ่มความตื่นตระหนกให้ตลาด เพราะชี้ให้เห็นวิธีการเอาตัวรอดจากปัญหาสภาพคล่องเพื่อให้อยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์ราคาตกต่ำ นอกจากนี้ Goldman Sachs ยังตอกย้ำมุมมองเดิมว่าราคาจำเป็นต้องดิ่งลงสู่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ถึงจะเพียงพอกดดันให้สถานะทางการเงินของผู้ผลิต Shale Oil คับขัน จนชะลอการขุดเจาะอย่างมีนัยสำคัญ ด้านความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่า ICE Brent เคลื่อนไหวในกรอบ 32.0-35.8 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, WTI ที่ 32.2- 34.8 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ Dubai ที่ 29.0-33.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับลดลง จากข่าวรัฐบาลจีนอนุมัติโควต้ารอบแรกให้โรงกลั่นของรัฐสามารถส่งออกน้ำมันเบนซินในปี 2559 ปริมาณรวม 37.2 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 เท่าของโควต้าการส่งออกครั้งแรกในปี 2558 ขณะที่ CPC Corp. ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ260,000 บาร์เรล ส่งมอบ 4-22 ก.พ. 59 และ Reformate 100 RON ปริมาณ 80,000 บาร์เรล ส่งมอบ 6-29 ก.พ.59 ประกอบกับ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillate เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ม.ค. 59 อยู่ที่ 13.87 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.29 ล้านบาร์เรล ระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน อย่างไรก็ตาม Pertamina ของอินโดนีเซีย มีแผนนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน ม.ค.59 เพิ่มขึ้น 0.24 ล้านบาร์เรล จากเดือน ธ.ค. 58 มาอยู่ที่ 7.84 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 2 ม.ค. 59 อยู่ที่ 10.4 ล้านบาร์เรล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 ล้านบาร์เรล หรือ 2.0 % นอกจากนี้ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในยุโรป บริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 31ธ.ค. 58 อยู่ที่ 6.8 ล้านบาร์เรล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.9 ล้านบาร์เรล หรือ 11.3 % สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.0-55.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับลดลงจากข่าวรัฐบาลจีนอนุมัติโควต้ารอบแรกให้โรงกลั่นของรัฐสามารถส่งออกน้ำมันดีเซล ในปี 2559 ปริมาณรวม 65.5 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 เท่าของโควต้าการส่งออกรอบแรกในปี 2558 และส่งออก Jet Fuel ปริมาณรวม 57.2 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 2 ม.ค. 59 อยู่ที่ 11.3 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.8 ล้านบาร์เรล หรือ 7.5 % อย่างไรก็ตาม PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในยุโรป บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 31 ธ.ค. 58 อยู่ที่ 24.8 ล้านบาร์เรล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล หรือ 6.7 % และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillate เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ม.ค. 59 อยู่ที่ 9.61 ล้านบาร์เรล ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.77 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็น ระดับต่ำสุดในเดือน ธ.ค. 57 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 39-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ