ขอเชิญผู้สนใจร่วมการประชุมวิชาการทางการแพทย์ 43 ที่วชิรพยาบาล

ข่าวทั่วไป Thursday March 23, 2000 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--วชิรพยาบาล
ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปี 2543 วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร วชิรพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมี นพ.ปิยเมธิ ยอดเณร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. คณะแพทย์ คณาจารย์ นักศึกษาแพทย์ และผู้สนใจร่วมการประชุม
นพ.ปิยเมธิ กล่าวรายงานว่า การประชุมวิชาการประจำปี 2543 ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร วชิรพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นั้น กำหนดมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 มี.ค. 43 โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้เสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ส่งเสริมงานวิจัย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสายงาน และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งการประชุมวิชาการครั้งนี้มีอาจารย์ แพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ สังกัดสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และผู้สนใจทั่วไป ประมาณ 300 คน เข้าร่วมประชุมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับหัวข้อการประชุมประกอบด้วย ศูนย์วิจัยกรุงเทพมหานคร, สมุนไพรในสหัสวรรษใหม่, การปรับตัวเองของแพทย์ไทยในสหัสวรรษใหม่, การแพทย์ทางเลือก, โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตนิสิตแพทย์ ฯลฯ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาการแพทย์ รวมทั้งมีการจัดแสดงนิทรรศการทางการแพทย์ และการมอบรางวัลการประกวดผลงาน Young Investigator Award
โอกาสนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้บรรยายปาฐกถาพิเศษหัวข้อเรื่อง “ศูนย์วิจัยกรุงเทพมหานคร” มีเนื้อหาโดยสรุปว่า หน่วยงานของกรุงเทพมหานครมีบุคลากรที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการมากมาย เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ แต่บุคลากรเหล่านี้ทำงานกระจายอยู่ในหลากหลายหน่วยงานขององค์กร ไม่มีการรวมศูนย์ ทำให้ไม่เกิดการพัฒนางาน อาทิ ในสายงานทางการแพทย์ มีบุคลากรทำหน้าที่ด้านการสอน, การวิจัย และการปฏิบัติงานบำบัดรักษา ซึ่งต่างมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้หากมีศูนย์กลางประสานงานการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ การจัดตั้งศูนย์วิจัยกทม. เป็นการสร้างศูนย์กลางในการประสานงานการวิจัย เป็นแหล่งระดมเงินทุน เทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยศูนย์ฯจะมีบุคลากรประจำไม่มาก เพื่อลดงบประมาณการบริหารจัดการ แต่จะเน้นการเป็นศูนย์ประสานงานและข้อมูล เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปเพื่อส่งเสริมการวิจัยอย่างเต็มที่ คณะกรรมการบริหารศูนย์วิจัยกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกรุงเทพ-มหานครจะเป็นสถาบันทางด้านวิชาการที่ให้การสนับสนุนการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนากรุงเทพมหานครในด้านการแพทย์และสาธารณสุข การศึกษา สังคมสงเคราะห์ วิศวกรรมศาสตร์ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในเมืองหลวง การวิจัยจะไม่เป็นไปในรูปของการวิจัยทางวิชาการ แต่จะมุ่งเน้นให้สามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในอนาคต สำหรับขั้นตอนในการดำเนินงานนั้น สำนักการแพทย์จะทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งจากการวิจัยที่สำนักการแพทย์ได้กระทำอยู่แล้ว จากข้อมูลสำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อหาปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนเมืองหลวงอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาบางเรื่องนั้น แม้จะเคยมีการศึกษาวิจัยมาแล้วในต่างประเทศ แต่เมื่อเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแตกต่างจากที่อื่น ก็จำเป็นต้องมีการวิจัยโดยเฉพาะ เพื่อจะหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องตรงจุด สำหรับการกำหนดหัวข้อการวิจัยมี 2 วิธี วิธีแรกที่ใช้ในเบื้องต้นคือ คณะกรรมการบริหารศูนย์วิจัยเป็นผู้กำหนดหัวข้อโครงการนำร่อง 3 โครงการ ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS 2. ผลกระทบของการบริโภคอาหารจานด่วนต่อสุขภาพของประชากรเมืองหลวง 3. การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน อันเป็นโครงการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนอีกวิธีหนึ่งในการกำหนดหัวข้อโครงการวิจัยซึ่งจะใช้ต่อไปในอนาคตคือ การจัดประชาพิจารณ์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชุมชนของตน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า บุคลากรผู้ปฏิบัติงานให้แก่ศูนย์วิจัยกทม. ประกอบด้วย 1. ผู้อำนวยการศูนย์และเจ้าหน้าที่จำนวนไม่มาก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานงาน 2. คณะกรรมการบริหารศูนย์วิจัยประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ซึ่งจะพิจารณาคัดเลือกหัวข้อโครงการวิจัย และพิจารณาอนุมัติเงินงบประมาณให้แก่ทีมวิจัยที่เสนอร่างโครงการ (proposal) ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และ 3. คณะกรรมการบริหารโครงการวิจัยแต่ละโครงการประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ หรือ “วุฒิเมธี” ในด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัยนั้น ซึ่งจะเป็นผู้ควบคุมดูแลให้คำแนะนำแก่ทีมวิจัย ตลอดจนผลักดันให้โครงการดำเนินไปจนแล้วเสร็จ ทั้งนี้กทม. จะช่วยจัดหาเงินทุนซึ่งจะมาจาก 2 แหล่งคือ เงินทุนสนับสนุนจากทางราชการ และจากภาคเอกชนในรูปของกองทุน ศูนย์วิจัยของกรุงเทพมหานครจะดำเนินการแตกต่างจากสถาบันวิจัยอื่นๆ ตรงที่จะเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ประสานงานในด้านข้อมูล อุปกรณ์ และสนับสนุนในด้านเงินทุน โดยเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจ และมีศักยภาพที่จะทำการวิจัยในหัวข้อต่างๆ ได้เข้ามาดำเนินการวิจัย ทั้งนี้จะมุ่งเน้นให้ผลการวิจัยเป็นประโยชน์และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ