คลินิกคณิตศาสตร์ ระงับการติด F ของ นศ.มทร.ธัญบุรี

ข่าวทั่วไป Thursday January 28, 2016 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี คลินิกคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี คลินิกสำหรับนักศึกษาที่มีปัญหาคณิตศาสตร์ ให้คำปรึกษา รักษา ดร.วรรณา ศรีปราชญ์ หัวหน้าสาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ด้วยทางสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ต้องการลดปัญหานักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำทางด้านคณิตศาสตร์ จึงได้จัดตั้ง คลินิกในการให้คำปรึกษาทางด้านคณิตศาสตร์แก่นักศึกษาขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาผลการเรียนต่ำทางคณิตศาสตร์ดังกล่าว โดยเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปีการศึกษา 2557 สำหรับปัญหาหลักๆ ของนักศึกษาที่มีผลการเรียนต่ำทางด้านคณิตศาสตร์เกิดมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการที่ 1 นักศึกษามีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน ประการที่ 2 นักศึกษาบางคนไม่เข้าใจเนื้อหาของบางชั่วโมงเรียน สำหรับปัญหานักศึกษามีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน ทางสาขาวิชาฯ มีการจัดโครงการสอนปรับความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ให้กับนักศึกษาใหม่ ก่อนเปิดภาคการศึกษาที่ 1 ของแต่ละปีการศึกษา เป็นประจำทุกปี และสำหรับปัญหานักศึกษาบางคนไม่เข้าใจเนื้อหาของบางชั่งโมงเรียน นั้นทางสาขาวิชาฯ ได้หาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการจัดตั้งคลินิกคณิตศาสตร์เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านคณิตศาสตร์กับนักศึกษา ซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน จันทร์-ศุกร์ เวลา 12.00 -13.00 และ เวลา 16.00 – 18.00 ที่ห้อง ST1 313 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางด้านคณิตศาสตร์ในคลินิกคณิตศาสตร์ เป็น นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยสอน (Teacher Assistant) ที่จัดโดยสาขาวิชาฯ เป็นผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกและมีคุณสมบัติที่เหมาะสม และมีอาจารย์ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์เป็นที่ปรึกษาในการจัดการเรียนการสอน โดยมีผู้ช่วยสอนเป็นผู้สอนและติว เป็นลักษณะรุ่นพี่ติวรุ่นน้องทำให้รุ่นน้องจะกล้าที่จะซักถามเกิดความเป็นกันเองและเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข ทำให้สามารถเข้าใจเนื้อหาได้มากยิ่งขึ้น สำหรับนักศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนประจำคลินิกจะได้รับการบันทึกเป็นชั่วโมงจิตอาสาโดยทางสาขาวิชาฯ ส่งข้อมูลการปฏิบัติงานของนักศึกษาให้กับทางฝ่ายพัฒนานักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบันทึกเป็นชั่วโมงจิตอาสา จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า นักศึกษาที่เข้าใช้บริการคลินิกคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ไม่เข้าใจเนื้อหาวิชาในชั้นเรียนหรือไม่สามารถมาเข้าเรียนในบางคาบเรียนได้ และนอกจากนี้ยังมีนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีอยู่แล้วแต่เข้าใช้บริการเพื่อติวเตรียมสอบเพื่อเพิ่มเกรดอีกด้วย โดยนักศึกษาส่วนใหญ่จะเข้าใช้บริการในช่วงเวลา วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.00 น.-13.00 น. และ เวลา 16.00 น. – 18.00 น. แต่ถ้าเป็นช่วงใกล้สอบจะมีนักศึกษาสนใจเป็นจำนวนมาก ทางคลินิกคณิตศาสตร์ จะอำนวยความสะดวกโดยการเปิดห้องเรียนขนาดใหญ่รองรับ และเพิ่มเวลาในการติว เป็น 16.00 -20.00 น. นอกจากนี้ทางคลินิกคณิตศาสตร์กำลังวางแนวทางพัฒนาการให้บริการโดยการเปิดให้บริการเพิ่มในวันเสาร์และวันอาทิตย์ และทำการพัฒนา e-Learning เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาที่ตารางเรียนว่างไม่ตรงกับเวลาการให้บริการของทางคลินิกคณิตศาสตร์ จากโครงการดังกล่าวส่งผลให้นักศึกษามีผลการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ดีขึ้น ช่วยลดการเกิดปัญหานักศึกษาติด F ส่งผลต่อเกรดนักศึกษาทำให้นักศึกษาไม่ถูกรีไทน์กลางคัน จิตอาสาผู้ช่วยสอน "ธี" นายธีรัตน์ เกษมวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาคณิตศาสตร์ เล่าว่า ได้มีโอกาสช่วยงานอาจารย์ และได้เข้าร่วมโครงการอบรมในการคัดเลือกเข้ามาเป็นครูผู้ช่วยสอน ถือเป็นการทบทวนความรู้ไปในในตัว ซึ่งถ้าเรียนแล้วไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ความรู้จะหายไป และเมื่อเรียนจบ ตนเองอยากเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา ถือเป็นการฝึกหัดไปในตัว ช่วงกลางวันและหลังเลิกเรียน จะมาประจำอยู่ที่คลินิก โดยส่วนมากนักศึกษาที่เข้ามาใช้บริการจะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ส่วนใหญ่กังวลกลัวติด Fนอกจากการสอนในคลินิกคณิตศาสตร์ ช่วงใกล้สอบจะมีนักศึกษามาใช้บริการมากที่สุด จึงต้องเปิดห้องเรียนขนาดใหญ่ เพื่อรองรับและติว ปัจจุบันเกรดเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 3.3 เป็นสาขาที่ชอบ อยากเก่งคณิตศาสตร์ต้องฝึกทำโจทย์เยอะๆ เช่นเดียวกับครูผู้ช่วยสอน "เทพ" นายเทพณัฐ พาลเสือ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาคณิตศาสตร์ เล่าว่า จุดเด่นที่ได้คัดเลือกให้มาเป็นครูผู้ช่วยสอน เนื่องจากตนเองมีวิธีการสอนที่เข้าใจง่าย ตนเองจะรับผิดชอบในส่วนของคณิตศาสตร์แคลคูลัส นักศึกษาจะมีปัญหาเยอะมาก ซึ่งจะพยายามสอนให้นักศึกษาเข้าใจวิธีการแก้โจทย์ ไม่เน้นการท่องสูตร ด้วยความชอบและวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ตนเองได้เกรดค่อนข้างสูง จึงตัดสินใจเรียนสาขานี้ คณิตศาสตร์ช่วยพัฒนากระบวนการคิดของตนเอง เมื่อเข้ามาทำงานตรงนี้ ต้องแบ่งเวลาให้ได้ ในการติวให้นักศึกษาที่เข้ามาใช้บริการในคลินิกคณิตศาสตร์ ต้องแบ่งเวลาอ่านหนังสือสอบด้วย แต่อย่างไรโอกาสที่อาจารย์มอบให้ เป็นการฝึกในวิชาชีพที่ตนเองจะออกไปทำงาน และที่สำคัญได้นำความรู้ที่เรียนมา ใช้ให้เกิดประโยชน์ ผู้เข้ารับบริการ "ศักดิ์" นายเกียรติศักดิ์ ไซรพันธ์แก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะครุศาสตร์อุสาหกรรม เล่าว่า คณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานที่ต้องใช้ในการเรียนสาขานี้ ใช้ในการคำนวณต่างๆ เช่น วงจรไฟฟ้า อาการของตนเองเกิดจากไม่เข้าใจเนื้อหาบางเนื้อหาในวิชาคณิตศาสตร์ทั่วไป จึงชวนเพื่อนในกลุ่มเข้าใช้บริการ ซึ่งเมื่อได้เข้ามาขอคำปรึกษา รุ่นพี่เป็นกันเอง สามารถสอบถามได้ โดยสอบกลางภาคที่ผ่านมา ได้คะแนนเกินครึ่ง ส่งผลต่อคะแนนเก็บปลายภาค หมดกังวลไม่ต้องกลัวติด F เช่นเดียวกับ "เบาหวิว" นางสาวมธุสร โพธิ์ฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า รู้สึกกังวลวิชาแคลคูลัส เนื่องจากไม่ชอบคณิตศาสตร์ แต่เมื่อเลือกเรียนสายวิทย์ คงจะหนีไม่พ้น รุ่นพี่แนะนำให้มาใช้บริการที่คลินิกแห่งนี้ เมื่อเข้ามารุ่นพี่เป็นกันเอง มีเทคนิคการสอน รู้สึกผ่อนคลาย ผลสอบกลางภาคที่ผ่านมา ได้คะแนนเกินครึ่ง ดีใจมาก ลดอาการกังวลได้ ส่วนใหญ่จะมาใช้บริการตอนหลังเลิกเรียน และช่วงติวสอบ เป็นการทบทวนความรู้ก่อนสอบ ขอบคุณทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีบริการและเปิดคลินิกคณิตศาสตร์ขึ้นมา ซึ่งกลัวว่าวิชาทางด้านคณิตศาสตร์จะเป็นตัวฉุดเกรดวิชาต่างๆ และขอบคุณครูผู้ช่วยสอนจิตอาสาที่แบ่งเวลามาให้คำปรึกษา รวมไปถึงการสอนและติวก่อนสอบอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ