ซิมดับ ย้ายค่าย และโปรลับ สถานการณ์ผู้บริโภคหลังประมูล 4G

ข่าวเทคโนโลยี Thursday February 4, 2016 17:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--กสทช. บทความโดย ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผ่านพ้นการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz นานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว สื่อมวลชนต่างมุ่งความสนใจไปที่การยังไม่ชำระเงินของผู้ชนะการประมูลทั้งสองราย ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้วมีเวลาชำระได้ถึง 90 วันหลังการรับรองผลการประมูล และทั้งสองรายยังอยู่ระหว่างกระบวนการประสานวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โดยยังไม่มีสัญญาณใดๆ แม้แต่น้อย ว่าสถาบันการเงินได้ปฏิเสธการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ เพียงแต่ต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบรัดกุม และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ทำให้ต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะมีข้อสรุปก่อนครบกำหนด 90 วันอย่างแน่นอน แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ ผู้ใช้งานในระบบ 2G บนคลื่นความถี่ 900 MHz เดิมซึ่งอยู่ในช่วงมาตรการเยียวยาจะใช้งานได้ถึงเมื่อใด และต้องเตรียมการรับมืออย่างไร จะมีการขยายระยะเวลาเยียวยาออกไปอีกหรือไม่ ตัวเลขผู้ใช้บริการในระบบ 2G ตามที่ผู้ให้บริการให้ข่าวคือประมาณ 1 ล้านราย นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้บริการที่ย้ายค่ายไประบบ 3G แล้ว แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนเครื่องมือถือให้รองรับ 3G ทำให้ต้องใช้งานโรมมิ่งบนระบบ 2G อีกประมาณ 10 ล้านราย หากปิดระบบ 2G บนคลื่นนี้แล้ว จะพลอยใช้งานไม่ได้ไปด้วยหากไม่เปลี่ยนมือถือใหม่ ทางออกของผู้บริโภคกลุ่มที่ยังไม่ได้ย้ายค่าย หากต้องการใช้บริการต่อเนื่องหรือใช้งานหมายเลขเดิมต่อไป ก็จะต้องย้ายค่าย มิเช่นนั้นก็จะเจอเหตุการณ์ซิมดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการย้ายค่ายอาจย้ายไปค่ายเดิมบนระบบ3G หรือเปลี่ยนไปค่ายอื่นเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้บริโภค แต่ต้องคำนึงถึงอุปกรณ์มือถือว่ารองรับบริการของค่ายที่ย้ายไปหาด้วย ซึ่งในปัจจุบันหลายค่ายต่างก็ออกโปรโมชั่นแจกเครื่องหรือขายเครื่องราคาถูก ส่วนผู้บริโภคกลุ่มหลังที่ยังไม่ได้เปลี่ยนมือถือ ทำให้ยังคงใช้งานเครือข่าย 2G ได้เท่านั้น ทั้งที่ย้ายไปค่าย 3Gแล้ว หากยังรักค่ายเดิมก็ต้องติดต่อขอรับมือถือใหม่หรือซื้อมือถือใหม่แล้วแต่สะดวก แต่หากจะย้ายค่ายไปหาระบบ2G ที่เหลืออยู่ ก็ต้องสอบถามแต่ละค่ายให้ดี ว่าค่ายใดยังให้บริการ 2G อยู่บ้าง เช่นถ้าเป็นค่ายที่ยังไม่หมดสัมปทาน2G หรือค่ายที่นำคลื่นที่ชนะการประมูลหรือคลื่นที่มีอยู่เดิมมาแบ่งให้บริการ 2G ก็อาจจะไม่ต้องเปลี่ยนมือถือ แต่ต้องยอมรับว่าบริการ 2G คงมีระยะเวลาเหลืออีกเพียงประมาณ 1-2 ปี สุดท้ายแล้วบริการ 2G ในประเทศไทยก็จะหยุดลง และเราก็ต้องเปลี่ยนมือถืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนคำถามที่ว่า การย้ายค่ายไป 3G จำนวน 10 ล้านราย โดยที่ยังใช้เครื่อง 2G เกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานตรวจสอบต้องร่วมกันหาคำตอบ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบัน คือทำอย่างไรให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ใช้บริการได้ต่อเนื่อง แม้ว่าหากเกิดปัญหาขึ้นจริง ผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตาม และตามหลักกฎหมายแล้ว ผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ถือว่าเป็นผู้ใช้บริการตามมาตรการเยียวยา เพราะได้ย้ายค่ายออกไปก่อนแล้ว ที่ผ่านมา มีผู้เสนอให้ขยายระยะเวลาเยียวยา คือให้คงบริการ 2G บนคลื่นนี้ออกไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้ผู้บริโภคมีเวลาย้ายค่ายนั้น โดยทางเทคนิคแล้ว แต่ละค่ายมีความสามารถในการย้ายได้วันละประมาณ 60,000 ราย หากมีการย้ายอย่างจริงจังหลังสิ้นสุดการประมูลคลื่น ในวันนี้เราก็จะไม่เหลือผู้ใช้บริการในระบบ 2G (ที่เคยมีจำนวน1 ล้านราย) เลย โดยไม่ต้องขยายเวลาแม้แต่น้อย ปัญหาจึงอยู่ที่การลงมือปฏิบัติ ตั้งแต่ การแจ้งเตือนผู้บริโภค การเตรียมระบบรับมือกับการย้ายค่ายปริมาณมาก ปัญหามิได้อยู่ที่ระยะเวลาไม่เพียงพอ เพราะหากค่ายมือถือยังคงไม่แจ้งเตือนอย่างทั่วถึงและจริงจัง ต่อให้ขยายระยะเวลาก็ยังมีผู้บริโภคตกค้างจนต้องเผชิญปัญหาซิมดับโดยไม่รู้ตัวอยู่ดี ที่สำคัญกว่านั้น คือสิทธิในการใช้คลื่นย่านนี้ ย่อมตกเป็นของผู้ชนะการประมูลที่มาชำระเงินและได้รับใบอนุญาตแล้ว หากมีการขยายระยะเวลาเยียวยาออกไปเกินกว่านั้น ย่อมเป็นการกระทบสิทธิการใช้คลื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย และจะก่อปัญหาตามมาอีกมากมาย จึงสรุปได้แต่เพียงว่า มาตรการเยียวยาผู้บริโภคบนคลื่นความถี่ 900 MHz จะสิ้นสุดในวันที่มีการชำระเงินประมูลและออกใบอนุญาตแล้ว บนบรรทัดฐานเดียวกับการเยียวยาบนคลื่นความถี่ 1800 MHz แต่สำหรับผู้บริโภคที่ขอย้ายค่ายนั้น (ไม่ว่าจะกรณีการหลีกเลี่ยงซิมดับหรือกรณีทั่วไป) อาจพบอุปสรรคบางอย่าง เช่น การย้ายค่ายไม่สำเร็จ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากค่ายเดิมไม่อนุมัติให้ย้ายออกโดยยกสาเหตุต่างๆ นานา หรือค่ายเดิมมีข้อเสนอพิเศษเพื่อจูงใจให้ใช้งานค่ายของตนต่อไป หรือที่เรียกกันว่าโปรลับ เช่น ลดราคาให้ถึง 50%หรือเพิ่มการใช้งานให้จนไม่อยากย้ายค่าย ก็มีผู้สอบถามว่าพฤติการณ์เหล่านี้ถูกกฎหมายไหม ตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น การย้ายค่ายเป็นสิทธิของผู้บริโภค ค่ายมือถือจะกีดกัน ขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวการย้ายค่ายไม่ได้ เช่น การอ้างว่ายังใช้บริการไม่ครบ 90 วันไม่สามารถย้ายออกได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เงื่อนไขที่ปฏิเสธการย้ายได้คือ เลขหมายที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลขหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีหรือถูกอายัด เลขหมายที่ยกเลิกบริการแล้ว เลขหมายที่มิใช่ของเราหรืออยู่ระหว่างเปลี่ยนชื่อผู้ใช้หรือยังไม่ลงทะเบียน และเลขหมายที่อยู่ระหว่างโอนย้ายอยู่แล้ว รวมถึงการที่ผู้ขอย้ายค่ายยังไม่ส่งเอกสารหลักฐานประกอบการย้าย โดยสรุป ผู้ให้บริการไม่สามารถยกสาเหตุอื่นนอกจากสาเหตุเหล่านี้ได้ ส่วนความสับสนที่พบบ่อยอีกประเด็นคือการมีค่าบริการค้างชำระ ซึ่งผู้บริโภคควรชำระหนี้ที่ค้างก่อนการย้าย ยกเว้นค่าบริการเดือนสุดท้ายที่ยังไม่ครบรอบบิล ให้ชำระเมื่อย้ายออกได้แล้ว หากผู้บริโภคพบพฤติการณ์ที่กีดกัน ขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวการย้ายค่ายสามารถร้องเรียนได้ กรณีที่มีข่าวว่า ค่ายมือถือบางค่ายบังคับให้ผู้บริโภคที่จะโทรไปศูนย์บริการของค่ายมือถืออื่น ต้องฟังข้อความประชาสัมพันธ์ของค่ายตนก่อน ก็เป็นเรื่องที่มีการตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ และถูกกฎหมายหรือไม่ แต่หากจงใจขัดขวางการโทรออกของผู้บริโภคไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมผิดกฎหมายอย่างแน่นอน ตรงข้ามกับมาตรการเชิงลบที่กระทบสิทธิการย้ายค่ายและผิดกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว ค่ายมือถือต่างก็ใช้มาตรการเชิงบวก คือการยื่นข้อเสนอที่ดีขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสมัครใจไม่ย้ายค่าย ไม่ว่าการลดราคา หรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ ซึ่งตามหลักธุรกิจแล้วถือว่าทำได้ เนื่องจากเป็นการสมนาคุณแก่ลูกค้าของตน แต่หากมีสภาพเป็น "โปร"แล้ว ย่อมไม่มีคำว่า "ลับ" เพราะ กสทช. กำหนดให้ค่ายมือถือต้องรายงานรายการส่งเสริมการขายให้สำนักงาน กสทช. ทุกเดือน การปกปิดรายการส่งเสริมการขายย่อมผิดกฎหมาย แต่หากเป็นการสมนาคุณเฉพาะบุคคลโดยไม่มีลักษณะเป็นรายการส่งเสริมการขายก็อาจเป็นคนละกรณีกัน อย่างไรก็ตาม การกำหนดอัตราค่าบริการให้แตกต่างกันในบริการโทรคมนาคมลักษณะและประเภทเดียวกัน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายแพงกว่าในบริการแบบเดียวกันสามารถร้องเรียนเพื่อจ่ายในอัตราเดียวกับคนอื่นได้ และผู้ให้บริการก็ควรคำนึงถึงหัวอกของผู้บริโภคที่ยังภักดีและไม่ขอย้ายค่ายด้วยว่า เหตุใดในที่สุดต้องจ่ายแพงกว่าคนอื่น และที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ภายหลังการประมูลคลื่น คือเรามีผู้ให้บริการายใหม่ หากค่ายมือถือเดิมเสนอโปรลับในราคาที่ต่ำกว่าทุน ย่อมเป็นการกีดกันการค้า ส่งผลเป็นการจำกัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และในระยะยาวจะก่อให้เกิดการผูกขาดแบบเดิมๆ นับเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แม้ดูผิวเผิน เสมือนว่าผู้บริโภคได้รับประโยชน์ (ในระยะสั้น) ก็ตาม ในหลายประเทศแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ต่างก็เฝ้าระวังการกำหนดราคาแบบ Predatory Pricing เช่นกัน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พอจะสรุปได้ว่า การประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา เป็นจุดเปลี่ยนของตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ