สสจ.นครพนม จัดประชุม CFO ให้ความรู้หน่วยบริการ ดำเนิน 4 กิจกรรม

ข่าวทั่วไป Friday February 26, 2016 14:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โดยกลุ่มงานประกันสุขภาพ จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาประสิทธิภาพการเงินการคลัง ตั้งเป้าผู้เข้าประชุมมีความรู้ความเข้าใจ เห็นความสำคัญ 4 กิจกรรมเสริมสร้างวินัย ส่งผลให้เกิดประสิทธิพภาพการบริหารการเงินการคลัง นางพรรณทิพา มีธรรม นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านบริการทางวิชาการ) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาประสิทธิภาพการเงินการคลัง (CFO) เพื่อประเมินประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลัง (Financial Administration Index: FAI) กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นการสร้างประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเงินของหน่วยบริการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง "กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเกณฑ์ประเมินประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลัง (Financial Administration Index : FAI) ให้หน่วยบริการทุกแห่งดำเนินงานใน 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.กิจกรรมการพัฒนาระบบควบคุมภายใน (Internal Control : IC) 2.กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพบัญชี (Accounting Audit : AC) 3.การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลัง (Financial Management : FM) และ 4.การพัฒนาการจัดทำต้นทุนบริการ (Unit Cost : UC) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โดยกลุ่มงานประกันสุขภาพ จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาประสิทธิภาพการเงินการคลังขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างวินัย การปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีระบบรายงานที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลัง และแก้ไขปัญหาการเงินให้กับหน่วยบริการ" นางพรรณทิพา มีธรรม กล่าวย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในจังหวัดนคพนมหลายแห่ง ได้รับผลกระทบทางด้านการเงินจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวที่ไม่เพียงพอ และหลายแห่งกำลังประสบปัญหาวิกฤติทางการเงิน ที่มีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการวางแผน การควบคุมกำกับ การรายงานสถานะทางการเงินที่ถูกต้อง โดยเฉพาะขาดการวางระบบควบคุมภายในที่เพียงพอ ดังนั้น ความรู้ความเข้าใจเกณฑ์ประเมินประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลังทั้ง 4 กิจกรรม รวมทั้งความร่วมมือร่วมใจของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน จะช่วยสนับสนุนให้หน่วยบริการมีประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลังและสามารถแก้ไขปัญหาการเงินให้หน่วยบริการได้ในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ