สถานการณ์ การสัมมนาและประโยชน์สมุนไพรไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday May 15, 2001 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--วช.
สมุนไพรไทยเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นหลักฐานทางภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดวิธีการ โดยนำสิ่งที่เป็นพืชพันธุ์มาใช้เป็นยารักษาโรคที่มีคุณค่าต่อสุขภาพอนามัยของประชากรโลก แต่ปัจจุบันสมุนไพรกลับถูกทำลายโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์ สูญหายและหาได้ยากลำบากขึ้น เนื่องจากผลการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา และจากการเจริญเติบโตของเทคโนโลยี ประเทศไทยนั้นถือว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีทรัพยากรสมุนไรสำคัญแห่งหนึ่งในโลก ทำให้วงการด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ทั่วโลกมีความในใจเข้ามานำสมุนไพรไทยไปศึกษาเพื่อทำผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะความก้าวหน้าของประเทศไทยไม่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาสมุนไพรนั้นเอง
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้จัดสัมมนา "สื่อมวลชนพบผู้วิจัย" เรื่อง "สมุนไพรไทย : สถานการณ์ แนวทางการพัฒนาและประโยชน์" ขึ้น ณ โรงแรมภูริมาศบีช อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 11 และ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ความเข้าใจและตะหนักถึงความสำคัญของสมุนไพรไทยและเสริมสร้างความสัมพันธ์ และรับผิดชอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาและประโยชน์ของสมุนไพรไทย
ในการสัมมนาคณะผู้วิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งที่ได้รับทุนอุดหนุนจาก วช.ได้ร่วมเป็นผู้ให้ข้อมูลและชี้แจงถึงสถานการณ์ แนวทางการพัฒนาและประโยชน์ของสมุนไพรไทย โดย ร.ศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ จากภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการวิจัยยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย ว่าสถานการณ์สมุนไพรที่สื่อมวลชนนำเสนอที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นดาบสองคม บางครั้งเป็นข้อมูลที่ยังอยู่ในขั้นการดำเนินการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชนที่รับข่าวสารนั้น เช่น ในช่วงที่มีข่าวกวาวเครือขาวเกิดขึ้นสำหรับสมุนไพรในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เสริมอาหาร หรือเสริมกับยาแผนปัจจุบัน ดังนั้นหลายๆ ประเทศอย่างอเมริกาและยุโรปมีความต้องการในผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสูงขึ้น และเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรสมุนไพรจำนวนมากซึ่งต้องเล็งเห็นว่าทำอย่างไรเราจะสามารถนำเข้าสู่ตลาดโลกได้ และสามารถพัฒนาได้อย่างไร
"เราจะต้องแข่งขันในด้านของคุณภาพ การแพทย์ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาต่อไป เราจะทำอย่างไรที่สมุนไพรไทยจะสามารถเข้าสู่ตลาดโลกในช่วงนี้ได้ จากวันนี้เราจะต้องวางแผนกันอย่างไร นโยบายของรัฐและการตลาดที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนายาและสมุนไพรต้องควบคู่กันรวมทั้งใบรับรองคุณภาพ ทั้งนี้ภาครัฐต้องคิดว่าสมุนไพรไทยควรจะเอาไว้เพียงในครัวหรือนำออกสู่ตลาดโลก" รศ.พร้อมจิตกล่าว
ผศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรว่า มหาวิทยาลัยได้รับทุนอุดหนุน จาก วช. เพื่อศึกษาและวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ขมิ้นเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบและแผลในลำไส้ และครีมรักษาโรคผิวหนังที่ติดเชื้อแบคทีเรียและผื่นแพ้ ขณะนี้กำลังทดลองทางคลีนิก โดยครีมขมิ้นชันจะทดลองกับผู้ป่วยเอดส์ที่มีอาการทางผิวหนังจำนวน 200 คน ที่โรงพยาบาลบำราษฎ์นราดูร เพื่อใช้ทดแทนยาเบต้าเมทาโซน ในกลุ่มคนไข้ทีมีผิวหนังมีอาการแพ้เฉยๆ ไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย และทดแทนเตรดตร้าไปซินในกลุ่มคนไข้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียด้วย ทั้งนี้ที่ทดลองกับคนไข้เอดส์ เนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายถ้าสำเร็จก็ใช้รักษาโรคผิวหนังในคนปกติได้เลย และใช้ทดแทนยารักษาโรคผิวหนังในผู้ป่วยเอดส์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
ส่วนขมิ้นชันแคปซูลรักษาโรคกระเพาะอาหาร กำลังจะทดลองกับคนไข้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารระดับปานกลาง 500 คน ที่โรงพยาบาทศิริราชและโรงพยาบาลราชวิถี เปรียบเทียบกับยารักษาโรคกระเพาะอาหารซีเมทธิดีน ที่มีฤทธิ์ลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะต้องใช้ยาหลายตัว คือ ยาขับลม ยาลดกรด และยาฆ่าเชื้อเพราะโรคกระเพาะอาหารเกิดจากเชื้อ H.Yylori ในกระเพาะอาหาร ขณะที่ขมิ้นชันประกอบด้วย สารกลุ่มสีส้มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและน้ำมันหอมระเหยลดอาการจุกเสียดแน่นท้องดังนั้นสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารโดยใช้ขมิ้นชันตัวเดียวไม่ต้องใช้ยาหลายชนิดเหมือนยาแผนปัจจุบัน
รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล กล่าวถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสมุนไพรในปัจจุบันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เกี่ยวกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่มีระบบที่ชัดเจน ทำให้การค้นคว้าวิจัยข้อมูลเหล่านี้เป็นไปได้ยาก รวมทั้งการวิจัยซ้ำซ้อน และไม่พัฒนาประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงได้รับทุนวิจัยจาก วช.เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรที่พบในประเทศไทยลงบนคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นสมุดข่อย ใบลานเป็นพันๆ เรื่องที่นับวันจะสูญหายหรือถูกทำลาย หรือการจดบันทึกและรวบรวมข้อมูลการวิจัย ทั้งข้อมูลทุนวิจัยและรายงานวารสารในประเทศ คาดว่า อีกประมาณ 2 ปี จึงจะรวบรวมสำเร็จ
สำหรับฐานข้อมูลที่ผนวกรวมจาก 3 แหล่ง คือ หนึ่ง ฐานข้อมูลจากหนังสือสมุนไพรของสิรีรุกขชาติสยามไพรสัช ยพฤกษ์ภูมิปัญญาของชาติ ซึ่งได้รวบรวมเป็นซีดีรอมจำนวน 402 ชนิด สอง-ฐานข้อมูลจากหนังสือประมวลสรรพคุณยาไทยของวัดโพธิ์ ที่จัดทำตั้งแต่ปี 2510 ที่มีแต่ตัวหนังสือไม่มีรูปภาพ และ สาม-ฐานข้อมูลงานวิจัยที่รวบรวมตั้งแต่ปี 2535-2540 ซึ่งเก็บรวบรวมไว้แล้วแต่ยังไม่มีการเผยแพร่ ทั้งนี้สำเร็จจะทำการเก็บไว้ที่ วช. เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาสืบค้นเพื่อเป็นหลักฐานในการค้นคว้าที่รวดเร็วและถูกต้อง
"เท่าที่ทราบมีหลายประเทศเข้ามาซื้อข้อมูลตำรายาไทยไปจำนวนมากแล้ว และนำไปผลิต จึงอยากให้นักวิจัยไทยได้ทำการวิจัยก่อน ไม่อยากให้สูญเสียภูมิปัญญาไทย ซึ่งยังไม่อยากให้เผยแพร่เป็นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท เพราะยังไม่สามารถป้องกันข้อมูลกับต่างชาติได้เกรงจะเป็นผลเสียต่อประเทศไทย เนื่องจากทุนและนักวิจัยด้านสมุนไพรเรายังสู้ฝรั่งไม่ได้" รศ.รุ่งระวีกล่าว
ด้าน ผศ.ดร.สมภพ ประธานธุนารักษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพในการพัฒนาสมุนไพรเพราะความพร้อมของวัตถุดิบ ภูมิปัญญาดั้งเดิม นักวิจัยเทคโนโลยีและทุน แต่ที่ยังขาดก็คือความเข้าใจที่ถูกต้อง นโยบายที่ชัดเจน การประสานงานและการทำงานเป็นทีม อย่างไรก็ตามการวิจัยสมุนไพรต้องใช้ต้นทุนเพื่อนำออกสู่ตลาด และทำให้ผู้ผลิตสนใจจะปฏิบัติ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ควรเข้ามาส่งเสริมด้านพืชสมุนไพรให้สามารถนำผลิตภัณฑ์สามารถส่งออกตลาดโลกได้ เป็นระบบที่ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ มาช่วย โดยภาครัฐต้องสนับสนุนโดยทำการเคลื่อนผลงานวิจัยให้ไปในทิศทางที่พร้อมๆ กัน
"สำหรับสมุนไพรที่ควรจะเร่งวิจัย ก็คือในกลุ่มเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานหรือสุขภาพของมนุษย์ เช่น ป้องกันโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ลดไขมันในเส้นเลือด หรือที่สามารถทำเงินได้ เช่น ชาสมุนไพร เป็นต้น" ผศ.ดร.สมภพกล่าว--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ