'โคมไฟกระดาษธรรมชาติ’ ผลิตภัณฑ์จากเยื่อไม้ไผ่ ฝีมืออาจารย์ มทร.ธัญบุรี ชูจุดเด่นเรื่องความแข็งแรง

ข่าวทั่วไป Tuesday March 8, 2016 18:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--มทร.ธัญบุรี อาจารย์ มทร.ธัญบุรี นำเศษไม้ไผ่เหลือใช้ มาผลิตกระดาษ ชูจุดเด่นเรื่องความแข็งแรงเพื่อใช้สร้างโคมไฟกระดาษ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม้ไผ่เป็นพืชอเนกประสงค์ที่มีความสัมพันธ์กับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยมายาวนาน ทุกส่วนของไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะลำต้นที่นำมาทำที่พักอาศัย ใช้ทำผลิตภัณฑ์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร รวมถึงภาคอุตสาหกรรม และจากการใช้งานไม้ไผ่ในทุกภาคส่วน มักจะมีเศษไม้ไผ่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก และกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยส่วนใหญ่มักจะทำลายเศษเหล่านั้นทิ้งด้วยการเผาทำลาย ซึ่งมีผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ดร.อนินท์ มีมนต์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จึงมีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาเศษไม้ไผ่เหลือทิ้งดังกล่าว โดยนำมาแปรรูปผลิตเป็นกระดาษและพัฒนากระดาษให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยผสมเส้นใยพลาสติกชนิดย่อยสลายได้ เพื่อใช้สร้างโคมไฟกระดาษ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ประดับยามค่ำคืนในช่วงเทศกาล โอกาสพิเศษต่างๆ หรือเพื่อการตกแต่งงานอื่นๆ "เส้นใยที่ได้จากเยื่อไม้ไผ่จะมีลักษณะเส้นใยยาว เมื่อนำไปปรับสภาพด้วยโซดาไฟ จะทำให้เส้นใยมีความอ่อนนุ่ม และเมื่อนำไปผ่านกระบวนการตีเยื่อและกระจายเยื่อ จะทำให้เส้นใยมีขนาดสั้นและเล็กลง สามารถนำมาขึ้นรูปเป็นกระดาษจากเยื่อไม้ไผ่ได้ แต่กระดาษนั้นจะมีความแข็งแรงต่ำ จึงได้วิจัยและพัฒนาสมบัติของกระดาษให้ความแข็งแรงยิ่งขึ้น โดยการนำเส้นใยพลาสติกพอลิแลคติคแอซิด หรือพีแอลเอ ซึ่งเป็นชนิดของพลาสติกย่อยสลายได้ มาผสมกับเยื่อไม้ไผ่ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวประสานให้เยื่อไม้ไผ่มีการเกาะยึดกันดีขึ้น ทำให้กระดาษมีความแข็งแรง รวมถึงเพิ่มเทคนิคสุญญากาศเข้าไปช่วยหลังจากผ่านขั้นตอนการช้อนเยื่อด้วยตะแกรง ซึ่งช่วยให้เส้นใยมีการแพ็คตัวที่ดีขึ้น และใช้กระบวนการอัดขึ้นรูปร้อน ทำให้เส้นใยพีแอลเอเกิดการหลอมละลายทำหน้าที่เป็นตัวยึดประสานระหว่างเส้นใย ส่งผลให้กระดาษจากเยื่อไม้ไผ่ผสมพลาสติกพีแอลเอมีความแข็งแรงและราบเรียบมากยิ่งขึ้น" ดร.อนินท์ อธิบาย ด้วยคุณสมบัติของกระดาษที่โดดเด่นในเรื่องความแข็งแรง นอกจากนำมาสร้างเป็นโคมไฟกระดาษแล้ว ยังสามารถต่อยอดพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบอื่นได้ด้วย นับเป็นการสร้างองค์ความรู้ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมาเป็นนวัตกรรมที่ผสมผสานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ นำเอาวัตถุดิบเหลือทิ้งในท้องถิ่นมาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าสีเขียวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และถือเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในระดับชุมชนและกลุ่มธุรกิจ ขณะนี้ ผลงานนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจดสิทธิบัตรและต่อยอดเชิงพาณิชย์ ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชม หรือขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับโคมไฟกระดาษจากเยื่อไม้ไผ่ผสมพลาสติกพีแอลเอได้ที่ มทร.ธัญบุรี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี สอบถามเพิ่มเติมโทร. 098 262 1185 หรือ 02 549 3492
แท็ก ธรรมชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ